เชียงใหม่นำร่อง..เส้นทางหวาน “น้อย” แต่อร่อย กระตุ้นลดหวาน ลดโรค

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำคณะเดินสายขึ้นมาเยือนเส้นทาง..หวานน้อย ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2566 หวังกระตุ้นคนเชียงใหม่ และผู้บริโภคสั่งเครื่องดื่มชงเย็นหวานน้อยไม่เกิน 2 ช้อนชา ภายใต้โครงการลดหวาน ลดโรค

ดร.นพ.ไพโรจน์ ย้ำว่า เราเป็นห่วง เพราะพฤติกรรมการกินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ รูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้คนไทยกินอาหารและเครื่องดื่มที่หวานเกินเกณฑ์มาตรฐาน ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ปี 2565 พบคนไทยกินน้ำตาลมากถึง 25 ช้อนชาต่อวัน เกินกว่าที่องค์การอนามัย (WHO) กำหนดอยู่ที่ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน หรือมากกว่า 4 เท่า เป็นต้นเหตุของภัยเงียบสุขภาพที่ทำให้อ้วนลงพุง ทำให้เกิดไขมันเกาะผนังหลอดเลือดจนเกิดการอักเสบ หากสะสมเป็นเวลานานจะเสี่ยงป่วยกลุ่มโรค NCDs โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว เพิ่มค่าใช้จ่ายในครอบครัว

จึงนำร่องเปิดตัว 6 ร้านกาแฟมีชื่อ ที่เข้าร่วมโครงการ สร้างความตระหนักรู้ และกระตุ้นให้ประชาชนใส่ใจสุขภาพ ป้องกันและลดพฤติกรรมเสี่ยงโรคเบาหวาน ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดหวาน ควบคู่ไปกับการลด ละ เลิกเหล้า บุหรี่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

เริ่มจากร้านกาแฟ ‘หวานน้อย’ ชั้น 1 อาคารคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พี่รุ่ง บอกว่า เครื่องดื่มและขนมทุกตัวหวานน้อยตามเทรนด์รักสุขภาพ แต่จะเพิ่มเมนูที่น่าสนใจ เพื่อดึงดูดใจลูกค้า เช่น การนำส้มมาเป็นส่วนผสมให้ความสดชื่นทดแทนความหวาน แบบหวานน้อย แต่..อร่อยมาก และปัจจุบันส่วนใหญ่ทุกคนลดความหวานลงมากกว่าที่ผ่านมา แต่ถ้าอยากได้ความหวานเราก็จะมีหญ้าหวานมาช่วยเพิ่มความกลมกล่อม เพื่อถนอมใจผู้บริโภค แบบค่อยๆ ลด

ส่วนร้าน ‘ภูพยัคฆ์’ ชั้น 1 อาคารสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ น้องเนย บาริสต้าประจำร้านเล่าว่า ลูกค้าเป็นข้าราชการที่รักษาสุขภาพอยู่แล้ว จึงตื่นตัวที่จะดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานน้อยลงจากปกติ ทางร้านใช้กาแฟดีจากจังหวัดน่าน มีเมนูทั้งร้อนและเย็นที่ระบุชัดเจนว่า ต้องการความหวานในระดับใดเริ่มจาก ปกติ หวานน้อย ไม่หวาน โดยมีตัวเลขแคลอรี่เปรียบเทียบให้เห็นเพื่อการตัดสินใจ เพราะจุดประสงค์ของโครงการ คือ ไม่ได้ห้าม แต่..ขอให้ลด

ร้าน Graph แบรนด์ดังของเมืองเชียงใหม่ ย่านศิริมังคลาจารย์ นอกจากสไตล์การแต่งร้านจะสวย เก๋ ชวนให้นั่งเท่ๆ จิบเครื่องดื่มสุดฮิปแล้ว น้องลูกแก้ว บาริสต้าคนเก่ง บอกอย่างมุ่งมั่นว่า กาแฟเราดีส่งตรงมาจาก 3 แห่งชั้นนำของไทย คือ ดอยช้าง ห้วยชมภู จังหวัดเชียงราย และขุนช่างเคี่ยน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีคุณสมบัติโดดเด่นจากดอยสูง หอมละมุนด้วยกลิ่นดอกไม้ เปรี้ยวปาก เมนูยอดนิยมหนีไม่พ้น Graph No.18 นุ่มละมุนคล้ายๆ คราฟเบียร์ แต่เพิ่มความสดชื่นด้วยน้ำส้มสด ปาดปากแก้วด้วยเลม่อน รสกาแฟชุ่มอยู่ที่ปลายลิ้น ส่วนลูกค้าที่ไม่ดื่มกาแฟเรามี Moly Cola ไว้ต้อนรับ ด้วยส่วนผสมจากเชอร์รี่ เลม่อน โคล่าไซรัป และคราฟโซดา หรืออยากได้แบบมีหน้าขนมก็แนะนำ Indian เป็นกาแฟสกัดเย็นแจมด้วยเมล็ดและเนื้อฟักทองอบกรอบโรยมาบนวิปครีม อร่อย หอม มัน กินง่าย เพราะทุกเมนู ใน 4 สาขา คือ Graph quarter Graph ground Graph One Nimman และ Graph Cafe หวานน้อยทั้งหมด

สหายเข้ม Coffee&Bakery อ.สันทราย..ก่ำปอ เจ้าของเป็นลูกของนักโภชนาการตัวยง เมนูในร้านจึงเป็นออแกนิก และไม่หวาน และกาแฟ..เข้ม สมชื่อ เพราะนมและน้ำตาลจะกลบกลิ่นและรสชาติที่แท้จริงของกาแฟที่มีความหอมและหวานอยู่ในตัวอยู่แล้ว โดยเธอนำกาแฟดอยช้าง จังหวัดเชียงราย และบ้านห้วยโทน จังหวัดน่าน มาเสิร์ฟ ซึ่ง..อเมริกาโน่ไม่หวาน คือ เมนูยืนหนึ่ง

186 Cafe&Bar แถวมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีสโลแกนประจำร้านว่า Less Sweet Lomger live Happy More เพราะเชื่อว่า สุขภาพดี ชีวีมีสุข แม้จะใช้ความหวานจากน้ำผึ้ง หรือผลไม้มาทดแทนก็ยัง..หวานอยู่ดี

ปิดท้ายด้วย ร้านกาแฟที่ดังระดับโลก Akha Ama Coffee หน้าวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ของ ลี อายุ จือปา หนุ่มแม่จันใต้ ดอยแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ที่ปลุกปั้นแบรนด์จนมี 3 สาขา และสาขาโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น.. เจนนี่ แฟนสาวของอายุ เล่าว่า กาแฟร้านเราไม่หวานเลย เพราะคนดื่มกาแฟไม่ชอบหวาน ลูกค้าเป็นต่างชาติ 100% ที่ปกติดื่มกาแฟดำ ชนิดแน่นร้านทุกวัน เราใช้กาแฟออแกนิกจากดอยของเราเอง และรับซื้อของชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง คนดื่มกาแฟใส่นมและน้ำตาล คือ คนไทย เราจึงหันมาใช้นมอัลมอนด์ ธัญพืช น้ำผึ้ง แต่ก็ไม่ปรุงหวาน เมนูที่นิยม คือ มานี มานะ ที่ให้ความเข้มแข็งและอ่อนโยนไปพร้อมกัน เป็นการผสมผสานระหว่างกาแฟดำ น้ำผึ้ง และเปลือกส้ม ตามด้วย..กาแฟวุ้น หรือ Coffee Jelly นำวัตถุดิบท้องถิ่นมาสร้างความสนุกสนาน ในราคาจับต้องได้ เพราะ Akha Ama ยึดหลัก..ใครๆ ก็กินกาแฟดีๆ ได้

ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สสส. กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ที่สามารถสร้าง Route ร้านกาแฟอ่อนหวาน เพื่อส่งเสริมสุขภาพกลุ่มผู้บริโภคที่ชอบดื่มกาแฟ โดยนำร่องร้านกาแฟย่านถนนสุเทพทั้งสาย ซึ่งมีร้านกาแฟเป็นจำนวนมาก ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ดึงเข้าร่วมโครงการร้านกาแฟอ่อนหวานเป็นโครงการนำร่อง และต่อยอดบรรจุในแผนการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป และยังสานพลังภาคี พัฒนาแอปพลิเคชัน Food Choice สแกนบาร์โค้ดบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร พัฒนาเกณฑ์การรับรองผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มทางเลือกสุขภาพ สร้างกติกากลางให้ภาคอุตสาหกรรมใช้รับรองผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ลดหวาน มัน เค็ม ผลักดันนโยบายลดการบริโภคหวานระดับชาติ 2 นโยบาย ของ ศธ. และ สพฐ. เสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพในการบริโภคน้ำตาลในกลุ่มเด็กนักเรียน เกิดการขยายผลร้านกาแฟอ่อนหวาน โรงพยาบาลอ่อนหวาน โรงเรียนบูรณาการอ่อนหวาน รวม 2,624 แห่ง

“ล่าสุดเราเจอร้านขนมปังไร้น้ำตาล ที่ทำจากแป้งกล้วยน้ำว้า ดัชนีน้ำตาล 3% ถือว่าต่ำมาก เป็น Zero Sugar Bread ภายใต้แบรนด์ผึ้งน้อย จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มวางจำหน่ายในตลาดแล้ว แต่ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวานและประชาชนทั่วไป”

ในขณะที่ ทพญ.รักชนก นุชพ่วง ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในช่วงปี 2565-2566 เริ่มทำกิจกรรม ‘เชียงใหม่อ่อนหวาน’ ใน 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ เพราะคนในเมืองกินหวานน้อยลง แต่คนรอบนอกยังไม่ตระหนัก เราจึงมุ่งสร้างกระแสกลุ่มเป้าหมายหลักคือ โรงเรียน 25 อำเภอ ส่งเสริมและรณรงค์ให้เด็กนักเรียนลดการกินหวาน อาทิ โครงการเชียงใหม่เด็กไทยฟันดี เด็กแม่อายไม่กินหวาน โรงอาหารไม่กินหวาน โครงการขนม-อาหารอ่อนหวาน น้ำอื่นบ่เอา..เฮาจะกินน้ำเปล่า คาเฟ่อ่อนหวาน โรงเรียนอ่อนหวาน และนักสืบสายหวาน

เพราะมั่นใจว่า หวานน้อย..อร่อยได้

#เชียงใหม่อ่อนหวาน #สสส. #กาแฟหวานน้อย #ลดหวานลดโรค

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: กิจกรรม, ที่กิน, สุขภาพ
คำค้น: , , ,