วว. ร่วมมือกับ ส.ขอนแก่น/สจล. วิจัยและพัฒนากล้าเชื้อแหนม ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพและการอาหาร

ดร.โศรดา วัลภา รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการวิจัยและพัฒนากล้าเชื้อแหนม ส. ขอนแก่น กับ ดร.เจริญ รุจิราโสภณ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) และรศ.ดร.นภัสรพี เหลืองสกุล คณบดี คณะอุตสาหกรรมอาหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านเทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีการอาหาร การพัฒนาศักยภาพบุคลากร เทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์เชื้อจุลินทรีย์สำหรับอาหารและศึกษาคุณสมบัติในการเป็นโพรไบโอติกส์ของกล้าเชื้อ ส.ขอนแก่น และ วว. พร้อมผลักดันให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ โอกาสนี้ผู้บริหารและบุคลากรทั้งสามหน่วยงานร่วมเป็นเกียรติและแสดงความยินดีด้วย ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ณ อาคาร ส. ทาวเวอร์ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

“…เป้าหมายที่สำคัญของ วว. คือ การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อันเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม นวัตกรรม และขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศ ไปใช้ในการสนับสนุน ส่งเสริม และร่วมดำเนินการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเชิงบูรณาการ เพื่อพัฒนาภาคเศรษฐกิจควบคู่กับสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงเป็นการร่วมมือกันเพื่อส่งเสริม พัฒนาความรู้ งานวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม สนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพของประชากรในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ขององค์กรและประเทศต่อไป…” ดร.โศรดา วัลภา กล่าว

ทั้งนี้ วว. วิจัยและพัฒนา พร้อมให้บริการด้านโพรไบโอติกส์ ภายใต้ความเชี่ยวชาญของ ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม หรือ ICPIM 1 ซึ่งเป็นศูนย์นวัตกรรมและเป็นหน่วยงานในสังกัด ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ ของ วว. ที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแบบครบวงจร (Research and Development, Innovation and Manufacturing : RDIM) ประกอบด้วยนักวิจัยที่มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีจุลินทรีย์โพรไบโอติกและจุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมอาหาร พร้อมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับงานวิจัยพัฒนาตั้งแต่ระดับต้นทาง (Upstream unit) ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง ตั้งแต่ในระดับห้องปฏิบัติการ ระดับสัตว์ทดลอง จนถึงการศึกษาในระดับมนุษย์ (Clinical trial) ถึงระดับปลายทาง (Downstream unit) มีกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐานสากล ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งถือว่าเป็นสายการผลิตที่ครบวงจรเป็นแห่งแรกของประเทศ เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหาร อาหารสุขภาพ ที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขัน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับคำแนะนำปรึกษาจาก ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM 1 ) วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 061 414 3934, 0 2577 9771 โทรสาร 0 2577 9058 E-mail : brc@tistr.or.th และ ID Line : @brc_tistr

 

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: เศรษฐกิจ
คำค้น: , , , , , , , ,