ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ติดตามความคืบหน้าโครงการข่วงหลวงเวียงแก้ว

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้แทนสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการข่วงหลวงเวียงแก้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขุดค้นทางโบราณคดี และได้คืบหน้าไปแล้วกว่า 90% ก่อนที่จะทำการทบทวนปรับปรุงแบบให้สอดคล้องกับผลการขุดค้น โดยเน้นการนำเสนอให้เห็นคุณค่าของพื้นที่อย่างชัดเจน

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้แทนสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการข่วงหลวงเวียงแก้ว บริเวณพื้นที่ก่อสร้างโครงการข่วงหลวงเวียงแก้ว ซึ่งจะมีการก่อสร้างอาคารโถงแห่งการระลึก อาคารข้อมูลและสำนักงาน อาคารบริการ อาคารศาลาพิธีกรรม รวมถึงการปรับภูมิทัศน์ ตกแต่งให้สวยงาม เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนได้เข้ามาพักผ่อน และจัดกิจกรรมต่างๆ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 95 ล้านบาท ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) มาก่อน

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินงานในขณะนี้อยู่ระหว่างการขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 90% โดยผลการขุดค้น พบโบราณสถานที่สำคัญเชื่อมโยงกับเมืองเชียงใหม่ และล้านนา เช่น โบราณสถานกำแพงเวียงแก้ว กลุ่มโบราณสถานภายในคุ้ม และโบราณวัตถุอีกจำนวนหลายชิ้น เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่พบในทุกยุคสมัยร่วมกับล้านนา และขั้นตอนต่อไปจะได้มีการทบทวนปรับปรุงแบบให้สอดคล้องกับผลการขุดค้น โดยเน้นการนำเสนอ สื่อความหมาย ให้เห็นคุณค่าของพื้นที่อย่างชัดเจน

ทั้งนี้เวียงแก้วคือพื้นที่หนึ่งในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ ที่ชาวเชียงใหม่และนักประวัติศาสตร์ เชื่อว่าเป็นพื้นที่พระราชวังเดิมของพญามังราย ปฐมกษัตริย์ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่และรวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยเป็นอาณาจักรล้านนา อย่างไรก็ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์มิได้กล่าวชี้ชัดว่าในคราวพญามังรายสร้างเมือง พระราชวังตั้งอยู่แห่งหนใด แต่เอกสารประวัติศาสตร์กล่าวถึงที่ตั้งเชิงความสัมพันธ์ของพื้นที่แค่เพียงว่า วังตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดเชียงมั่น ขณะที่แผนที่โบราณนครเชียงใหม่ ที่จัดทำขึ้นราวปี 2436 โดยกระทรวงมหาดไทย ได้ปรากฏพื้นที่ผืนใหญ่ภายในกำแพงเมืองเชียงใหม่ด้านทิศเหนือ ซึ่งมีลักษณะการแบ่งเขตพื้นที่พระราชวังชั้นนอกชั้นใน (ผังคล้ายอักษร T ตะแคงด้านซ้าย) และมีข้อความเขียนกลางพื้นที่ว่าเวียงแก้วและถูกรายล้อมด้วยโบราณสถานสำคัญ คือ วัดสะดือเมือง รวมถึงหอพระแก้วร้างหรือที่ตั้งของหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: สังคม
คำค้น: , , ,