ปางช้างแม่สา ทำ MOU ม.แม่โจ้-แพร่ ร่วมพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์จากมูลช้าง พร้อมแถลงการผลิต “กาแฟหมักมูลช้าง” ที่แรกของประเทศไทย สร้างรายได้เสริมช่วงโควิด-19

คุณอัญชลี กัลมาพิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปางช้างแม่สา จำกัด พร้อมด้วย ผศ.ดร.บัญญัติ มณเทียรอาสน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือการวิจัยและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากมูลช้าง ทำเป็นผลิตภัณฑ์กระถางปลูกไม้ดอกไม้ประดับ และพืชผักสวนครัว ขนาด 3-5 นิ้ว และยังเป็นปุ๋ยย่อยสลายเองภายใน 3 เดือน โดยมี .ดร.ศุกรี อยู่สุข คณบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้แพร่ เฉลิมพระเกียรติ และคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยาน ท่ามกลางสื่อมวลชนที่มาร่วมงานมากมาย โรงผลิตปุ๋ยมูลช้างอินทรีย์ ปางช้างแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

โดยในแต่ละวันปางช้างจะมีมูลช้างไม่น้อยกว่า 5-6 ตัน ได้มีการนำมูลช้างมาทำปุ๋ยหมักโดยใช้ระยะเวลาในการหมักไม่ต่ำกว่า 6-8 เดือน ทีมวิจัยศูนย์เกษตรอินทรีย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้แพร่ เฉลิมพระเกียรติได้มีการนำเสนอแนวทางการผลิต เพื่อลดระยะเวลาในการหมักปุ๋ยมูลช้างให้เหลือระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือน โดยการนำมูลช้างมาลดความชื้นแล้วใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายเซลลูโลสในการหมักก่อน เพื่อลดระยะเวลาในการหมักและทำให้ได้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพที่มีคุณภาพสูงและได้มาตรฐาน เพื่อนำออกสู่ตลาดในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อการเกษตร ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของชุมชนเกษตรอินทรีย์และชุมชนเมือง เพื่อให้ผลผลิตที่ได้จากช้างสร้างรายได้กลับมาดูแลช้าง ทดแทนการขาดรายได้จากการท่องเที่ยว ในช่วงโควิด-19

อย่างไรก็ตามปางช้างแม่สาแม้เปิดให้บริการโดยเปิดให้เข้าชมฟรี แต่เนื่องจากยังมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลช้างและพนักงานทั้งหมด โดยมีค่าใช้จ่ายเดือนละประมาณ 5 ล้านบาท จึงต้องหารายได้และลดค่าใช้จ่ายลง โดยดำเนินการในหลายวิธีการทั้งการปลูกข้าว พืช ผักผลไม้ตามฤดูกาลเพื่อเลี้ยงช้างและคนในปางช้าง การปลูกหญ้าคุณภาพดีเพื่อนำมาเลี้ยงช้างที่มีอยู่เกือบ 80 เชือก และทำให้ได้มูลช้างคุณภาพดีประมาณวันละ 5-6 ตัน จึงได้ตั้งโรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นมา โดยใช้พื้นที่รอบปางช้างใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลช้างบำรุงพืชผักซึ่งนำมาใช้ในครัวปางช้างแม่สาและแบ่งปันพนักงาน นอกจากนี้ยังปลูกข้าวเหนียวซึ่งสามารถนำไปเลี้ยงช้างและคนในปางช้างได้

ตามด้วยการแถลงข่าวการปลูกกาแฟ และการดำเนินงานผลิตกาแฟหมักมูลช้างกาแฟสูตรพิเศษที่แรกของประเทศไทย โดยมี ดร.ธีรพัฒน์ วงศ์วรทัต ประธานสมาคมกาแฟอาเซียน, รองประธานสมาคมกาแฟเอเชีย ยืนยันการทำกาแฟหมักมูลช้าง พื้นที่ของปางช้างแม่สามีความเหมาะสมที่จะปลูกกาแฟได้ และการทำกาแฟหมักมูลช้างจะทำที่ปางช้างแม่สาเป็นแห่งแรกของไทย หรืออาจจะเป็นแห่งแรกของโลกก็อาจเป็นได้ด้วย

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: การตลาด, การเกษตร, กิจกรรม, ที่เที่ยว, สังคม, เศรษฐกิจ
คำค้น: , , , , ,