พาไป! เรียนรู้การสอนออนไลน์ ในแบบฉบับ ครู ”แม่ติ๋ม” ผศ.ดร.วราภรณ์ ไทยมา คณบดีคณะศิลปศาสตร์ SPU

หลายๆคำถามที่ใครๆก็อยากรู้ว่า“เรา”จะปรับตัวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างไร? เมื่อวิกฤตมาถึง เราจับพลิกให้เป็นโอกาส เรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นและดึงศักยภาพที่เรามีมาปรับใช้เพื่อที่จะนำไปพัฒนาการเรียนการสอน online ให้สมบูรณ์แบบไม่ใช่เพื่อใคร “แต่เพื่อนักศึกษาของเรา”
วันนี้จะพาไปทำความรู้จักและเรียนรู้การสอนออนไลน์ในแบบฉบับของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ ไทยมา คณบดี คณะศิลปศาสตร์ หรือ ครู“แม่ติ๋ม” ที่นักศึกษามักเรียกขานกันค่ะ ซึ่งสอนวิชาของบัณฑิตศึกษา ป.โท คณะสหวิทยาการฯ และป.เอก ของหลักสูตรบริหารการศึกษา วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ ก่อนหน้านี้ทางคณะศิลปศาสตร์ ได้มีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Online มาบ้างหรือไม่ มีผลตอบรับเป็นอย่างไร
“เราจะไม่รอเพื่อวันที่ทุกคนพร้อม!! แต่เราจะก้าวนำเพื่อให้พร้อมกว่าทุกคน”
ดร.วราภรณ์ เล่าว่า ก่อนที่จะปิดการเรียนการสอนค่อนข้างกะทันหันเนื่องจากสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงมากขึ้น ทางมหาวิทยาลัยจึงตัดสินใจอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้นักศึกษาทุกคนต้องเสี่ยงออกจากบ้าน ก่อนหน้านั้นมีการสอน online Live FB ซึ่งผลตอบรับดีมากค่ะเป็นสิ่งใหม่ที่นักศึกษาได้ share ความรู้อย่างเต็มที่ มีการนำเสนองานต่างๆเรียกได้ว่าเราได้ซ้อมมาบ้างก่อนลงสนามจริง
สิ่งที่อาจารย์ต้องปรับตัวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้ต้องเรียนต้องสอน Online อย่างเต็มรูปแบบ
ก่อนหน้านี้ที่มหาวิทยาลัยมี Office of Online Education (สำนักการจัดการศึกษาออนไลน์)มาจัดการอบรมเรื่องโปรแกรมต่างๆที่จะใช้ในการสนับสนุนการสอน Online เช่น Zoom, Google Meet และ Microsoft Teams ให้กับอาจารย์ทุกคนค่ะทั้งทฤษฎีและปฏิบัติจริงทุกคนมีการปรับตัวที่เร็วมากและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเราเองก็ปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้คุ้นชินมากที่สุด เพื่อให้เกิดความราบรื่นระหว่างการสอนค่ะ
ความแตกต่างระหว่างการสอนในห้องเรียนปกติ กับการสอน Online
มีความแตกต่างบ้าง ในห้องเรียนได้จะเจอหน้ากัน ได้พูดคุยกัน ได้พรีเซนท์งานหน้าห้อง แต่เมื่อปรับมาเรียน Online เราก็จะเจอหน้ากันผ่านแค่หน้าจอ คุยกันผ่าน Chat แทน การส่งงานตรวจงานก็จะใช้ E-mail เป็นหลัก นี่คือความต่าง แต่ก็มีข้อดีมากมายค่ะ หลังๆมารู้สึกว่านักศึกษาเองก็ผ่อนคลายมากขึ้น เพราะเราได้คุยกับแต่ละคนเป็นการส่วนตัวมากกว่าเมื่อก่อน เค้าก็จะมีความกล้าในการปรึกษาในสิ่งที่ติดขัดของแต่ละคนมากกว่าเดิม ข้อดีคือมันทำให้ตัวอาจารย์ และตัวนักศึกษาได้เข้าใจและเข้าถึงกันมากขึ้น สนิทกันมากกว่าตอนเรียนในห้องอีก …
ปัญหาและอุปสรรคที่พบในระหว่างการสอนจากทางผู้สอนและจากผู้เรียน มีบ้างไหม และแก้ไขปัญหายังไง?
ตอนนี้ยังไม่พบปัญหานะคะ เพราะ feedback ที่ได้รับค่อนข้างกลับมาในเชิงบวกเลยทำให้เรามีพลังและกำลังใจดีมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคลาสของอาจารย์เองเป็นคลาสนักศึกษาปริญญาโท ของคณะสหวิทยาการซึ่งค่อนข้างจะคุ้นเคยกับการทำงานผ่าน Online มาอยู่แล้ว จึงเรียกได้ว่าแทบจะไม่ต้องปรับตัวเลย แถมยังประหยัดเวลาในการเดินทางอีกด้วย ไม่เหนื่อยด้วยค่ะ Work from Home เสร็จก็ Study from Home ต่อได้เลย ถือว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ มันก็ทำให้ตัวเราเองได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่างบางอย่างเราไม่เคยทำก็ได้ทำ บางอย่างอาจจะเป็นเรื่องร้ายๆแต่ก็มีสิ่งดีๆซ่อนอยู่มากมาย อยู่ที่ตัวเราจะมองสิ่งเหล่านั้นให้ออกมาเป็นแบบไหน.

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: การศึกษา
คำค้น: