“ประชาชาติธุรกิจ” สัมมนาใหญ่ “เชียงใหม่ 2020” ชี้ทางรอดธุรกิจยุคดิจิทัล “เปลี่ยน ก่อนถูกเปลี่ยน”

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ในเครือบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมกับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ จัดสัมมนา“เชียงใหม่ 2020 #เปลี่ยน ก่อนถูกเปลี่ยน” ณ โรงแรมแชงกรี-ลา เชียงใหม่ โดยมีวิทยากรที่มาให้มุมมองด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ ได้แก่ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย บรรยายพิเศษเรื่อง Thailand 2020 Economic Outlook, ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย และช่วงเสวนาพิเศษ ที่จะได้แนวคิดการทำธุรกิจจริง Beyond Business จากคุณมารุต ซุ่มขุนทด CEO ผู้ก่อตั้งแบรด์นกาแฟคลาส คาเฟ่

นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดสัมมนาในครั้งนี้นับเป็นการให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจกับผู้ประกอบการ นักธุรกิจ และผู้สนใจในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ซึ่งหัวข้อการสัมมนาในครั้งนี้ ถือว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ เป็นการให้มุมมองใหม่ๆ จากท่านวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ที่จะมาให้แนวทางการรับมือเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่

รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขนาดเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2561 หรือ GPP ประมาณ 221,000 ล้านบาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศซึ่งอยู่ที่ 102,491 ล้านบาท ร้อยละ 58.09 และสูงเป็นอันดับหนึ่งของภาคเหนือ แบ่งเป็นภาคบริการร้อยละ 65.9 ภาคเกษตรร้อยละ 22.3 และภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 11.8 ซึ่งหอการค้าเชียงใหม่ โดยหอการค้าคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่จะขยายตัวถึง 3 แสนล้านบาทภายใน 5 ปีข้างหน้า

ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวบรรยายในหัวข้อ “รับมือเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่” โดยชี้ว่ารัฐบาล ควรให้ความสำคัญ 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1.ภาครัฐมีความจำเป็นต้องเป็นผู้นำการลงทุน เพื่อสร้างโอกาสและสร้างสมดุลให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน 2.จะต้องเดินหน้าผลักดันเรื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น พร้อมกับมีการรองรับการปรับตัวของตลาดแรงงาน 3.ทุกคนต้องรับผิดชอบสังคมร่วมกัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นส่วนช่วยให้ทุกภาคธุรกิจปรับตัวเดินไปด้วยกันพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าปี 2562 เศรษฐกิจไทยจะเติบโต 2.5-2.6% ต่ำกว่าปี 2561 ที่ขยายตัว 4% เป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ทำให้ผลผลิตในซัพพลายเชนเดือดร้อน ส่วนปี 2563 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยยังชะลอตัว แต่คงดีขึ้นกว่าปีนี้เล็กน้อย จากมาตรการต่างๆ ที่ออกมากระตุ้น แม้สงครามการค้าสหรัฐ-จีนยังมีความเสี่ยงแต่จะลดความรุนแรงไม่เท่าปีนี้ นายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เลื่อนการใช้ภาษีสินค้าจีนไปก่อน และจะมีการเลือกตั้งอเมริกา ส่วนข้อตกลงเรื่องการถอนสหราชอาณาจักรออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) คงจะเดินหน้าต่อมีเวลา 1 ปี ถ้าเงื่อนไขไม่สำเร็จคงจะออกจากอียูโดยไม่มีเงื่อนไข (Brexit with no deal)

ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาตั้งแต่ปี 2560 เหตุจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าช่วงที่ผ่านส่งผลกระทบต่อการส่งออกลำบาก ซึ่ง ธปท.ได้เข้าไปดูแล แต่ปีหน้า ค่าเงินยังแข็งค่าต่อไป แต่จะไม่แรงเท่าปีนี้ เนื่องจาก ธปท.ได้พยายามผ่อนปรนกฎระเบียบ การนำเข้าเงินดอลลาร์มาแลกเงินบาท แต่ไม่สามารถทำให้อ่อนได้มาก

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า
ทิศทางของค่าเงินบาทในช่วงไตรมาส 1/2563 โอกาสจะอยู่ที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และมีความเป็นไปได้ที่ปลายปี 2563 จะแข็งค่าไปอยู่ในระดับ 29.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

“เรียกได้ว่าค่าเงินบาทแข็งเทียบเท่ากับปี 2540 แต่เมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าถือว่าแข็งค่ามาก ฉะนั้นต้องจับตามอง ส่วนในภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจะรู้สึกว่ากำลังซื้อของตัวเองลดลง แต่เทรนด์ในปีหน้าน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น และการลงทุนจากรัฐบาลจะช่วยทำให้เกิดการหมุนเงินสู่เศรษฐกิจในภูมิภาคมากขึ้น”

ดร.อมรเทพ กล่าวต่อว่า เชื่อว่าสงครามการค้าจะยืดเยื้อแต่ไม่ทวีความรุนแรง ปีชวดคือโอกาสและความท้าทาย (ช.ว.ด.) ช. แรกคือชวนย้ายฐานการผลิตจากทุนจีน-ญี่ปุ่น ว. ยังวุ่นจากค่าเงินบาทผันผวน ด. ยังคงดวนเดือดจีน-อเมริกา และเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านการแข็งขันเราอาจจะสู้ไม่ได้แต่การท่องเที่ยวเรามีจุดแข็งและเป็นเชิงบวก

ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2020 (2563) มีโอกาสจะเติบโตอย่างชะลอตัว โดยสงครามการค้าจะยังมีต่อเนื่องแต่คงไม่รุนแรง ซึ่งการที่เศรษฐกิจโลกส่งผลซึมเข้ามาเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้ลภาคการผลิตของอุตสาหกรรมหรือนอกภาคเกษตรอย่างโรงงานเริ่มลดวัตถุดิบและลดกำลังการผลิต ชั่วโมงการทำงานของแรงงานถูกตัด ส่วนภาคเกษตรยังสามารถประคับประคองไปได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่แข็งแต่คาดว่าปีหน้าจะเติบโตอยู่ที่ 2.7%

ขณะเดียวกันสงครามการค้ายังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาขึ้นภาษีจีน เพื่อพยายามกดจีนที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร็วมาก รวมถึงการส่งออกของไทยไปจีนและสหรัฐที่จะได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งจีนก็เริ่มขยายอิทธิพลเข้ามายังภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น

ในภาพของเศรษฐกิจโลกเติบโตช้าแต่ไม่ใช่วิกฤติ อเมริกาหนุนแรงงานใช้ค่าจ้างขับเคลื่อนผู้บริโภค ยุโรป มองว่าหนี้สาธารณะค่อนข้างสูง ส่วนจีน ปรับตัวกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาล และสามารถเติบโตได้

ดร.อมรเทพ กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจของประเทศไทยคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีอ2563 โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวยังมีทิศทางที่ดีในปี 2563 รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวด้วย อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มีจุดเด่นคือ การท่องเที่ยว ขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐในเชียงใหม่ เช่น รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง จะส่งผลดีต่อภาคท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ก็จะโตตามมา ในส่วนของอุตสาหกรรมรถยนต์ เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ กำลังซื้อจะไม่โตมาก เพราะเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นของภาคประชาชน ส่วนการซื้อขายออนไลน์ก็มีแนวโน้มเติบโตได้ดี แต่ผู้ประกอบการต้องตามเทรนด์และปรับตัว เพราะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เป็นโอกาสทางธุรกิจ

นายมารุต ชุ่มขุนทด CEO ร้านกาแฟ Class Cafe กล่าวในหัวข้อ“Beyond Business แตกต่างเพื่อเติบโต” ว่า การนำเอาความรู้ที่ได้ไปทำร้านกาแฟเกิดขึ้นหลังจากเดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาที่เห็นเทรนด์กาแฟเติบโต จึงได้ไอเดียไปริเริ่มเปิดร้านกาแฟ Class Cafe ที่โคราช เนื่องจากฐายประชากรในภาคอีสานมีจำนวนมาก และมีดีมานด์ตลาดกาแฟ

“เริ่มทำกาแฟเองจากประสบการณ์ เป็นแพลตฟอร์มกาแฟร้านแรก เมื่อขายไปสักพักก็มีคนสนใจค่อนข้างเยอะ”

ขณะที่ภาพธุรกิจในปัจจุบันกำลังพบกับการเปลี่ยนแปลง คลื่นธุรกิจกำลังเปลี่ยนเพราะคนซื้อของออนไลน์มากขึ้น เป็นคนกลุ่มใหม่ที่สามารถตัดสินใจซื้อของง่าย เช่น โค้ก สไปร์ เบียร์ จะเห็นว่าธุรกิจมีการแข่งขันหรือการดีสรับชั่นมากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจร้านอาหารและร้านกาแฟอย่างเช่น โปรโมชั่นออนไลน์ 1 แถม 1 จนเกิดปัญหาโครงสร้างราคา ขาดทุน จากเดิมเปิดร้านต้องมีการลงทุนให้มีความสนใจมากที่สุด แต่ปัจจุบัน คือร้านที่มีแกร็บ จอดอยู่หน้าร้านก็ซื้อ

ปัจจุบัน Class Cafe มี 30 สาขา หากทั้ง 30 สาขาปรับเปลี่ยนให้เป็นไปในแพลตฟอร์มเดียวกัน จะเป็นดังนี้ 1.ต้องจำบุคคลได้ 2. ดึงข้อมูลทั้งหมด 3. เริ่มใช้ Machine Learning

นายมารุต กล่าวว่า การมีสาขาจำนวนมากไม่ใช่หัวใจสำคัญในการขยายธุรกิจ แต่สาขาที่มีอยู่จะต้องเป็นธุรกิจที่ทำกำไร และตอบโจทย์ลูกค้า เช่นการดีไซน์ธุรกิจใหม่ ต้องไม่ทำสิ่งที่เป็นอยู่แบบเดิมๆ หรือหากสร้างธุรกิจขึ้นใหม่ แต่ยังเดินตามรอยเก่าอยู่ ก็จะอยู่ไม่ได้ พัฒนาเพื่อไม่ให้ถูกดิสรัปชั่น

ล่าสุด Class Cafe ได้ประกาศยุทธศาสตร์ปี 2563 คือ การขยายสาขาไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไป แต่ต้องทำให้เกิดกำไรให้มากที่สุด เพราะเปิดมากก็มีภาระต้นทุนมาก โดยจะมใช้ยุทธศาสตร์ด้านดาต้าหรือข้อมูลของลูกค้า มุ่งสู่แพลตฟอร์มกาแฟ ของ Class Cafe เข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น บาริสต้าต้องรู้ใจลูกค้าและเข้าถึงลูกค้ามากที่สุด ซึ่งเป็นวิธีคิดของธุรกิจยุคใหม่

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: กิจกรรม, เศรษฐกิจ
คำค้น: , ,