“โรคชิคุนกุนยา” ไข้ปวดข้อที่เกิดจากยุงลาย

“ยุงลาย” ไม่ได้เป็นแค่พาหะนำโรคไข้เลือดออกเท่านั้น ยังมีอีกโรคหนึ่งที่ชอบเกิดการระบาดพร้อมๆ กัน นั่นก็คือ “โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา” ที่แม้อาจจะไม่รุนแรงเท่า แต่ก็สร้างความทรมานได้ไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะช่วงนี้ พบข่าวการระบาดหนักในเขตพื้นที่ภาคเหนือจังหวัดลำพูน ทำให้วันนี้ โรงพยาบาลลานนา จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ และวิธีสังเกตอาการ หากโดนยุงกัดแล้วไม่สบาย
อาการของโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยา มักคล้ายกับโรคไข้เลือดออก คือมีไข้สูงเฉียบพลัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย อาจมีอาการคันร่วมด้วย บางรายอาจมีตาแดง แต่ไม่พบจุดเลือดออกในตาขาว สิ่งที่แตกต่างจากโรคไข้เลือดออก คือเชื้อไวรัสชิคุณกุนยาจะไม่ทำให้พลาสม่าหรือน้ำเลือด รั่วออกนอกเส้นเลือด จึงไม่ทำให้ผู้ป่วยช็อคได้เหมือนไข้เลือดออก แต่มักจะสร้างความทุกข์ทรมาน โดยจะมีอาการปวดตามข้อ และข้ออักเสบ ส่วนใหญ่ข้อที่ปวดจะเป็นข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า โดยเปลี่ยนตำแหน่งการปวดไปเรื่อยๆ อาการปวดอาจจะมากจนถึงขั้นผู้ป่วยเคลื่อนไหวข้อไม่ได้ และอาการอาจจะปวดยาวนานต่อเนื่องถึง 12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเรื้อรังต่อเนื่องเป็นเดือนหรือเป็นปี ทำให้อาจถูกวินิจฉัยผิดว่าเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้เช่นกัน หากไม่รับการตรวจที่ถูกต้อง

อีกผลกระทบหนึ่งสำหรับแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ หากได้รับเชื้อจะสามารถถ่ายทอดไปสู่ทารกได้ ทำให้ทารกเกิดใหม่มีไข้ มีผื่น มีอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นอันตรายได้ และจำเป็นจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

“ชิคุนกุนยา” ตรวจเร็ว รู้ผล ได้ด้วยวิธีนี้ …
เนื่องจากอาการของโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา มีลักษณะคล้ายกับโรคไข้เลือดออก การตรวจรักษาของแพทย์จำเป็นต้องอาศัยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นเครื่องมือยืนยันว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร ซึ่งโรงพยาบาลลานนา ได้พัฒนาศักยภาพระบบการตรวจวิเคราะห์เชื้อไวรัสชิคุนกุนยาและเชื้อไวรัสเดงกี่ทางห้องปฏิบัติการ ด้วยเทคโนโลยีการตรวจแบบ PCR เพื่อตรวจหาสารพันธุกรรม (RNA) ของเชื้อไวรัส ทำให้สามารถรายงานผล ได้อย่างรวดเร็วและมีความถูกต้อง แม่นยำ ตรวจวิเคราะห์ ซึ่งเป็นผลดีต่อแนวทางการรักษาผู้ป่วยให้ทันท่วงที

ทั้งนี้ การรักษาโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ใช้หลักการเดียวกันกับ โรคไข้เลือดออก คือ การรักษาแบบประคับประคอง และป้องกันภาวะแทรกซ้อน ร่วมกับป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อไวรัสชิคุณกุนยาต่อไป อย่างไรก็ตาม การป้องกันตนเองที่ดีที่สุด คือการป้องกันไม่ให้ยุงกัด ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของท่านเอง และคนที่คุณรัก

ด้วยความห่วงใยจาก ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลลานนา โทร.052-134-777
ขอขอบคุณ : พญ.ณัฐิณี ลักษณานันท์ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลลานนา

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: สุขภาพ
คำค้น: , ,