สดร. ผนึกกำลังนักวิชาการ 28 หน่วยงาน จัดตั้งภาคีความร่วมมือวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศแห่งประเทศไทย

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนบูรณาการวิจัยด้านคุณภาพอากาศและจัดตั้งภาคีความร่วมมือวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศแห่งประเทศไทย  ระดมคณาจารย์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญจาก  5 หน่วยงานภาครัฐ 23 มหาวิทยาลัย ร่วมวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศและคุณภาพอากาศของไทย หวังตอบโจทย์การแก้ปัญหาเร่งด่วนของรัฐบาลได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ 

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า  ปัจจุบันประเทศไทยได้รับผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและประสบปัญหาคุณภาพอากาศและอย่างมาก  ทั้งความแปรปรวนของฤดูกาล อุณหภูมิของโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และมลพิษอากาศที่เกี่ยวข้อง  เช่น ก๊าซโอโซนระดับผิวดิน ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ สารมลพิษตกค้างยาวนาน เป็นต้น สดร. จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จัดตั้งกลุ่มวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ (Atmospheric Research Unit of NARIT : ARUN) ดำเนินการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศมาอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมตั้งแต่ผลกระทบจากอนุภาคที่มาจากอวกาศต่อชั้นบรรยากาศ  จนถึงการศึกษาการเกิดและการเคลื่อนตัวของฝุ่นละอองขนาดเล็กในชั้นบรรยากาศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ทำให้พบว่า การทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศของประเทศไทยยังไม่ปรากฏแนวทางการวิจัยที่ชัดเจนรอบด้าน และผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิจัยดังกล่าวกระจายอยู่ในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ

ภายหลังเมื่อจัดตั้ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมขึ้น สดร. จึงริเริ่มจะจัดทำแผนบูรณาการวิจัยด้านคุณภาพอากาศ (Air Quality Research Programs) ของประเทศ และจัดตั้งภาคีความร่วมมือวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศและคุณภาพอากาศของประเทศให้มีประสิทธิภาพ บูรณาการทรัพยากรทางการวิจัยทั้งที่อยู่ในมหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกัน เพื่อให้การทำวิจัยสามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาเร่งด่วนของรัฐบาลได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ เป็นที่มาของการจัดประชุมครั้งนี้

การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อร่างแนวทางการจัดทำแผนบูรณาการวิจัยด้านคุณภาพอากาศ (Air Quality Research Programs) และการจัดตั้งภาคีความร่วมมือวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศแห่งประเทศไทย มีคณาจารย์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญจาก 5 หน่วยงานภาครัฐ และ 23 มหาวิทยาลัย อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จำนวนรวม 55 คน ร่วมกันหารือภาพรวมงานวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศของประเทศไทย พร้อมระดมสมองจัดทำแผนบูรณาการวิจัยด้านคุณภาพอากาศ (Air Quality Research Programs) เพื่อกำหนดทิศทางการให้ทุนสนับสนุนการวิจัย วางแนวทางส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับวิจัยคุณภาพอากาศไทยในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงวางกรอบการวิจัยพื้นฐานให้ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง หวังสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ในช่วงเวลา 5 -10 ปีข้างหน้า และจัดตั้งภาคีความร่วมมือวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศแห่งประเทศไทยในอนาคต

ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ ล้วนเห็นตรงกันว่า ประเทศไทยควรมีศูนย์วิจัยศึกษาด้านนี้โดยเฉพาะ ทั้งนี้ สดร. พร้อมให้การสนับสนุนห้องปฏิบัติการ และเป็นแกนนำวางแนวทางงานวิจัยด้านคุณภาพอากาศ โดยจะอาศัยข้อคิดเห็น ข้อแนะนำจากหน่วยงานต่างๆ นำมาวางแผนการทำงานวิจัยในช่วงระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า เมื่อหารือปรับแผนร่วมกันแล้ว จะนำแนวทางงานวิจัยดังกล่าวเสนอไปยังกระทรวงการอุดมการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมต่อไป

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: กิจกรรม, สังคม, สิ่งแวดล้อม, สุขภาพ
คำค้น: , , , , , , ,