ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนฉุกเฉิน ประจำปี 2562 (CEMEX 2019)

ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนฉุกเฉิน กรณีเหตุเพลิงไหม้และการระเบิด เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สิน และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้โดยสารผู้ใช้บริการ

นายมนตรี มงคลดาว รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานท่าอากาศยานภูมิภาค) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นประธานเปิดการฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนฉุกเฉินท่าอากาศยานเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ 2562 ซึ่งท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ในฐานะท่าอากาศยาน ที่ให้บริการอากาศยานพาณิชย์ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศจัดขึ้น ตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบิน พลเรือน ฉบับที่ 82 ว่าด้วยระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบิน และตามมาตรฐานสากลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีในภาคผนวกที่ 14 ตอนที่ 7 ว่าด้วยการวางแผนรับเหตุฉุกเฉินของท่าอากาศยาน” DOC 9137 กำหนดให้ท่าอากาศยานต้องมีแผนฉุกเฉิน พร้อมทั้งให้ดำเนินการฝึกซ้อมบนโต๊ะจำลอง (Table top Exercise) อย่างน้อยหกเดือนต่อครั้ง ยกเว้นในช่วงเวลาหกเดือนที่ดำเนินการฝึกซ้อมเต็มรูปแบบ การฝึกซ้อมบางส่วน (Partial Exercise) อย่างน้อยปีละครั้ง สำหรับในปีที่ไม่มีการฝึกซ้อมเต็มรูปแบบหรือแล้วแต่กำหนด และการฝึกซ้อมเต็มรูปแบบ (Full scale Exercise) อย่างน้อยสองปีต่อครั้ง

ประกอบกับนโยบายด้านความปลอดภัยของ ทอท. ได้กำหนดให้ท่าอากาศยานในกำกับดูแลทุกแห่ง ฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินเป็นประจำ ทุกปีงบประมาณ เพื่อทดสอบความรวดเร็ว ถูกต้อง และความชำนาญเกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติงาน การวางแผน การควบคุมและสั่งการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนทดสอบขีดความสามารถของเครื่องมือและอุปกรณ์ เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย การดับเพลิงและกู้ภัย การแพทย์ ข่ายการติดต่อสื่อสารและการประสานงาน เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้มาใช้บริการ ผู้โดยสารและสายการบิน

ด้าน นายอมรรักษ์ ชุมสาย อยุธยา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ กล่าวว่า การฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนฉุกเฉินในปีนี้ ได้ดำเนินการฝึกซ้อมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในบทที่ 4 เรื่องเพลิงไหม้และการระเบิด (Structural Fires and Explosions) เนื่องจากอัคคีภัย ถือเป็นภัยร้ายแรงประการหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอัคคีภัยนั้น เกิดในพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่จำนวนมาก มีวัสดุอุปกรณ์และเอกสารสำคัญ อย่างเช่นสนามบิน ความเสียหายที่เกิดขึ้นย่อมกระทบถึงภาพลักษณ์ชื่อเสียง ความเชื่อมั่นของผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ การระงับเหตุด้วยความรวดเร็ว บนพื้นฐานการบูรณาการร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากจะเป็นการลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแล้ว ยังแสดงถึงความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการอีกด้วย

การฝึกซ้อมครั้งนี้ ได้กำหนดสถานการณ์ เกิดเพลิงไหม้ภายในอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ต้นเพลิงอยู่ที่บริเวณใต้ฝ้าเพดานสำนักงานด่านกักกันสัตว์ระหว่างประเทศ และลุกลามขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว หัวหน้าพนักงานเวร ได้แจ้งผู้บังคับบัญชาและขออนุมัติใช้แผนฉุกเฉิน รวมทั้งขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก พร้อมกันนี้ได้อพยพผู้โดยสารออกจากอาคารไปรวมกันที่บริเวณลานจอดอากาศยาน และเคลื่อนย้ายอากาศยาน ที่จอดประชิดอาคารไปยังหลุมจอดระยะไกล จนกระทั่งสามารถควบคุมเพลิงได้ในที่สุด และคัดแยกผู้โดยสารขาเข้า และขาออก เพื่อเข้าสู่กระบวนการให้บริการตามปกติต่อไป

โดยในการฝึกซ้อมได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกหน่วย อาทิ กองบิน 41 ศูนย์ควบคุมการบินเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลเมืองแม่เหียะ เทศบาลตำบลสุเทพ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลนครพิงค์ และคณะกรรมการธุรกิจการบินเชียงใหม่ (Airline Operators Committee : AOC) ที่ได้สนับสนุนอากาศยาน รถดับเพลิงและบุคคลากรเข้าร่วมฝึกซ้อม ครบตามองค์ประกอบที่กำหนดไว้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นใจ (Safety and Security)” คือเป็นเลิศในมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งเป็นหนึ่งในค่านิยมหลักของ ทอท.อีกด้วย

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: กิจกรรม, สังคม
คำค้น: , ,