ผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งติดตามความคืบหน้า สางปัญหาเรื่องร้องเรียน 3 อำเภอในเชียงใหม่

พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย นายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, นายเมธี มั่นคง ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 1 และคณะฯ ลงพื้นที่ประชุมหารือกับนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนในอำเภอฝาง อำเภอแม่อาย และอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ห้องประชุม 1 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่มีการทำเกษตรเชิงพาณิชย์ในหลายพื้นที่ มีผลผลิตหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น ลำไย ข้าวนาปี ส้มเขียวหวาน กระเทียม หอมแดง ลิ้นจี่ ฯลฯ ซึ่งจะประสบผลสำเร็จได้ต้องอาศัยทั้งทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น แรงงานในพื้นที่ ภูมิปัญญาชาวบ้าน เทคโนโลยี และการสนับสนุนด้านวิชาการ อย่างไรก็ตาม ทุกพื้นที่ย่อมต้องมีปัญหาที่อาจเกิดจากความไม่เข้าใจ หรือไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้องเหมาะสม โดยในวันนี้ได้ประชุมติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ 3 กรณี ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ นายอำเภอฝาง นายอำเภอแม่ริม กรมส่งกำลังบำรุงทหารบก มณฑลทหารบกที่ 33 กรมรบพิเศษที่ 5 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ประสานการทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้ทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชนคลี่คลายลงได้ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นในหน่วยงานภาครัฐแก่ประชาชนในพื้นที่อีกด้วย

กรณีแรก เป็นปัญหาการจัดที่ดินในเขตพื้นที่แปลงสวนส้ม สปก. อำเภอฝาง และอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวข้องกับกลุ่มเกษตรกรผู้ร้องเรียน 93 ราย ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอแนะให้จังหวัดเชียงใหม่ และคณะกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการขยายภูมิลำเนาของเกษตรกรที่เคยจำกัดอยู่ใน 4 ตำบล เป็นระดับอำเภอ คือ อำเภอฝาง และอำเภอแม่อาย หากรายใดคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกให้ได้รับสิทธ์ สปก. จะต้องได้รับการเยียวยา โดยจัดหาอาชีพตามความถนัดของแต่ละบุคคล เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวต่อไป นอกจากนี้ ยังได้ติดตามขั้นตอนการปรับแก้ไขจำนวนเนื้อที่ที่อยู่อาศัยจากแปลงละ 800 ตารางวา เป็นแปลงละ 600 ตารางวา และให้ปรับปรุงการรวมกลุ่มเกษตรกรที่รัฐจะส่งเสริมให้มีทางเลือกมากขึ้น โดยให้เป็นรูปแบบสถาบันเกษตรกรแทนการจำกัดเฉพาะสหกรณ์การเกษตรเท่านั้น

กรณีที่ 2 เป็นการที่บริษัทเอกชนบุกรุกขุดลอกเปลี่ยนแปลงทางน้ำ ทำให้น้ำจากลำเหมืองสาธารณะ (หนองก๊อดหญ้าข้าวนก) ไม่สามารถไหลผ่านลงสู่ลำห้วยแม่หลักหมื่นได้ อีกทั้งมีการวางท่อกีดขวางทางน้ำลำห้วยแม่หลักหมื่น เป็นเหตุให้เกษตรกรในพื้นที่ไม่สามารถใช้น้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้ขอให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เร่งพิจารณาอนุญาตให้มีการขุดลำเหมือง และขอให้จังหวัดเชียงใหม่อนุมัติงบประมาณในการดำเนินการขุดลอกลำเหมืองดังกล่าว พร้อมกับให้องค์การบริหารส่วนตำบลเวียง และอำเภอฝางติดตามดำเนินคดีกับบริษัทเอกชนในความผิดเกี่ยวกับการบุกรุก และเปลี่ยนแปลงทางน้ำสาธารณะอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรายงานความคืบหน้าให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทราบทุกระยะ

ส่วนกรณีที่ 3 เกี่ยวกับราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณชุมชนบ้านป่าม่วง และบ้านในพัฒนา ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินบริเวณที่ตนเองครอบครองทำประโยชน์ ในเขตพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พุทธศักราช 2483 พบว่าปัจจุบันกองทัพบกได้ส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวคืนกรมธนารักษ์แล้ว หากราษฎรรายใดต้องการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว จะต้องขออนุญาตและขอเช่าที่ราชพัสดุจากธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ ในประเด็นนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ให้ธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ กบร.จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ราษฎรได้เช่าพื้นที่อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ราชพัสดุตามหลักเกณฑ์กฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: นโยบายการเมือง, สังคม, สิ่งแวดล้อม
คำค้น: ,