เปิดงาน “Lanna Thai Coffee Hub” ในโครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตกาแฟล้านนาคุณภาพ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 1

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2561 นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “Lanna Thai Coffee Hub” ในโครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตกาแฟล้านนาคุณภาพ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 1 ณ ห้องเชียงใหม่ ชั้น 2 อาคารศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส โรงแรม ดิเอ็มเพรส เชียงใหม่

โครงการ Lanna Thai Coffee Hub ได้ดำเนินงานตั้งแต่เดือนเมษายน 2560-มีนาคม 2561 ซึ่งคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้บูรณาการดำเนินการกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี  เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 มูลนิธิโครงการหลวง ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกาแฟรวมทั้งภาคเอกชน เชียงใหม่เมืองกาแฟ สมาคมกาแฟอาราบิก้าไทยภาคเหนือ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สภาอุตสาหกรรม สวทช. และประชารัฐรักสามัคคี มีเครือข่ายหน่วยงานที่ดูแลเกษตรกร และธุรกิจกาแฟ มีเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 1  เข้าร่วมโครงการในกิจกรรมต่างๆ มีเกษตรกรเข้าร่วม 2,932 ราย จากเกษตรกรทั้งหมด 6,280 ราย เกษตรกรได้รับความรู้ ติดต่อเป็นเครือข่าย ในกิจกรรมในแปลงและหลังการเก็บเกี่ยว และได้รับความรู้พัฒนาธุรกิจของตนเอง มีพื้นที่ที่เหมาะสมปลูกกาแฟเพิ่มขึ้นประมาณ 100 ไร่

มีการสร้างเครือข่ายผู้ปลูกกาแฟ ผู้ประกอบการ และหน่วยงานรับผิดชอบด้านกาแฟ ทำให้เกิดความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น จัดทำระบบฐานข้อมูล NTAC Base (Northern Thai Arabica Coffee Base) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ อีกทั้ง ผู้ประกอบการที่ผลิตและจำหน่ายกาแฟอะราบิกาในเขตภาคเหนือตอนบน 1 มากกว่า 50 พื้นที่ เกษตรกรรวมประมาณ 2,000 ราย โครงการได้มีการให้ความรู้โดยจัดทำศูนย์สาธิต ในพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ 15 แห่ง และได้สนับสนุนปัจจัยในการผลิตให้กับเกษตรอีกด้วย

มีการจัดทำมาตรฐานเมล็ดกาแฟ จำนวน 3 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานกาแฟสาร มาตรฐานกาแฟกะลา ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้จากความคิดเห็นของเกษตรกร ผู้ประกอบการซื้อขายกาแฟเป็นหลัก และมาตรฐาน Green and Clean เพื่อใช้เป็นมาตรฐานกลางในการนำไปใช้เบื้องต้นก่อนเพื่อให้การผลิตกาแฟมีความเหมาะสม ได้ผลผลิตมีความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานจากศูนย์พัฒนากาแฟอะราบิกาล้านนา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นอกจากนี้โครงการฯ จัดตั้งโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์แบบพาราโบลาโดม จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ จัดตั้งที่ศูนย์กลางการพัฒนาคุณภาพกาแฟอะราบิกาล้านนา ณ ศูนย์วิจัย สาธิตและฝึกอบรมการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1 หลัง ถ่ายทอดความรู้ด้านการแปรรูป การใช้โรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน การพัฒนาคุณภาพกาแฟจากการคั่ว ชง และชิม จัดอบรมและถ่ายทอดเรื่องระบบมาตรฐาน GAP รวมถึงการจัดทำการตรวจติดตามเพื่อตรวจรับรองระบบมาตรฐาน GAP  มีกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมตามแนวทางกาแฟล้านนาไทยจำนวน 17 กลุ่ม มีเกษตรกรที่ได้รับมาตรฐานกาแฟล้านนา (Green and Clean) และมาตรฐาน GAP จำนวน 7 หมู่บ้าน

การเสวนาหาข้อสรุปได้มาตรฐานกาแฟเบื้องต้น ทำให้ได้มาตรฐานกาแฟที่เหมาะสมในเขตภาคเหนือตอนบน 1 (ตามมติที่ประชุม 9 สิงหาคม 2560) และได้มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพกาแฟอะราบิกาล้านนาแบบครบวงจร โดยได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ ชื่อ “ศูนย์พัฒนากาแฟล้านนาไทย” เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ สาธิต จัดฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตกาแฟคุณภาพ ให้แก่เกษตรกรผู้ผลิตกาแฟ ผู้ประกอบการและผู้สนใจทั่วไป ณ ศูนย์วิจัย สาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมทั้งจัดทำคู่มือศูนย์พัฒนากาแฟล้านนา เพื่อประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้ผลิตกาแฟ ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจทั่วไป มีการจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมในการบริการเกษตรกรในการด้าน การจัดการแปลง ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ดิน น้ำ และพืช สารพิษทางการเกษตรเป็นต้น และศูนย์พัฒนากาแฟล้านนาไทยได้จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับกลุ่มเกษตรกร และผู้ที่สนใจ เช่น การอบรมการชงเครื่องดื่มกาแฟ อบรมการคั่วกาแฟขั้นพื้นฐาน อบรมการใช้เครื่องมือและเครื่องจักรกลสำหรับการผลิตกาแฟ เป็นต้น

ได้นักธุรกิจหน้าใหม่ที่ได้รับการอบรม 400 ราย ได้ผู้ประกอบการจำนวน 10 ราย ที่ผ่านการฝึกอบรมผู้ประกอบอาชีพด้านธุรกิจกาแฟนล้านนา (Coffee Lanna Startup) และเพิ่มศักยภาพการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ออกแบบผลิตภัณฑ์ ประกวดตราสัญลักษณ์กาแฟ Lanna Thai Coffee  มีผู้เข้าร่วมประกวด 140 ผลงาน โดยได้ตราสัญลักษณ์กาแฟล้านนา 1 ตรา ซึ่งมีหลักเกณฑ์และการนำไปใช้ร่วมกับมาตรฐานกาแฟล้านนา และมีการศึกษาดูงานธุรกิจกาแฟครบวงจร จำนวน 3 เส้นทางรวมผู้เข้าดูงาน 69 คน  กลุ่มวิสาหกิจชุมชน จำนวน 17 กลุ่ม ครอบคลุมเกษตรกร 354 ราย ได้ร่วมกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจสามารถจับคู่ธุรกิจได้ 124 คู่ โดยเกษตรกรได้รับการสนับสนุนจากโครงการฯ ผลผลิตกาแฟจากเกษตรกรทุกกลุ่มผ่านเกณฑ์มาตรฐานอยู่ในระดับที่ปลอดภัย มีการจัดฝึกอบรม เรื่อง “การจัดการการบริหารธุรกิจร้านกาแฟเบื้องต้น (Coffee shop management)” ใน 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 มีผู้เข้าร่วม โครงการทั้งสิ้น 524 คน มีหลักสูตรอบรมบาริสต้าได้บาริสต้าหน้าใหม่จำนวนทั้งสิ้น 256 คน

จัดทำตลาดดิจิตอล (Digital market) สำหรับกาแฟล้านนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ประเภท Info graphic และ viral clip รณรงค์กาแฟอะราบิกา เพื่อใช้ในการแนะนำโครงการ Lanna Thai Coffee Hub และตระหนักถึงคุณค่าของกาแฟที่ได้มาจากเกษตรกร และระบบ Mobile Application เพื่อส่งเสริมการตลาดของกาแฟล้านนา รวมทั้งร้านกาแฟในเครือข่าย โดยระบบ Mobile Application มีฟังก์ชั่นทั้งภาษา คือ ภาษาไทย จีน และอังกฤษ มีระบบค้นหาร้านกาแฟ ที่จะแสดงข้อมูลประวัติความเป็นมาของร้าน เมนูเครื่องดื่ม รีวิว และรูปภาพต่างๆ มีระบบแผนที่ร้านค้าที่แสดงเส้นทางการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงพื้นที่ระหว่างภาคเหนือตอนบน 1 และภาคเหนือตอนบน 2 เป็นการเพิ่มช่องทางการสืบค้นและใช้เป็นเครื่องมือให้ความรู้และพัฒนาธุรกิจกาแฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จังหวัดเชียงใหม่ มีจุดเด่นที่เป็นแหล่งผลิตกาแฟกะลาที่มากที่สุดในกลุ่ม (3,025 ตัน) รองลงมาได้แก่ ลำปาง    (534 ตัน) แม่ฮ่องสอน (416 ตัน) และลำพูน (8 ตัน) ตามลำดับ

โครงการฯ Lanna Thai Coffee Hub เป็นตัวกลางประสานเชื่อมโยงเกษตรกร เตรียมองค์ความรู้ในเรื่องการเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว สนับสนุนให้เกษตรกรทำกาแฟคุณภาพ มีการส่งประกวดคุณภาพเมล็ดกาแฟ เป็นการสื่อสารข้อมูลความสำคัญของคุณภาพกาแฟอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรมีประสบการณ์และเรียนรู้มาตรฐาน พบปะแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันและเมื่อได้รับผลการประเมินคุณภาพกาแฟของตนเอง สามารถนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองผลิตกาแฟให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

ในอนาคตความมุ่งหวังของโครงการ Lanna Thai Coffee Hub ที่ได้จัดทำศูนย์พัฒนากาแฟล้านนาไทย ภายใต้การดูแลของคณะเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะเป็นแหล่งบริการข้อมูลของเกษตรกร พื้นที่ปลูกกาแฟ องค์ความรู้ในการผลิตกาแฟอะราบิกาที่มีคุณภาพให้กับเครือข่ายแบบครบวงจร เป็นแหล่งเรียนรู้ ค้นคว้าทดลอง และตรวจสอบคุณภาพกาแฟ เป็นการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตกาแฟให้กับเกษตรกร ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจกาแฟให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนอีกด้วย

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: การเกษตร, เศรษฐกิจ
คำค้น: ,