กรมสุขภาพจิต ชวนรู้เท่าทันภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นด้วยตัวเอง
นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพอื่นๆ อาการที่พบมีหลายอาการ ได้แก่ เศร้า เบื่อหน่าย หงุดหงิดฉุนเฉียว ไม่อยากทำอะไร รู้สึกสิ้นหวัง ร่วมกับอาการนอนไม่หลับ ไม่อยากอาหาร สมาธิลด อ่อนเพลีย ขาดความมั่นใจ การตัดสินใจไม่ดี อาการพวกนี้มีมากจนมีปัญหาการใช้ชีวิตและนานหลายอาทิตย์ บางคนอาจมีความคิดอยากตายร่วมด้วย ในปัจจุบันได้ผลักดันโรคจิตเวชต่างๆ ให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานของการรักษาผู้ป่วยทั้งสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ และในขณะนี้ได้มีการหารือเพิ่มงบประมาณการดูแลสุขภาพจิตพัฒนาโครงการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิตทุกกลุ่มวัย สร้างการตระหนักรู้และคัดกรองสุขภาพจิตตัวเองในเบื้องต้น อาทิ ร่วมกับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. เพื่อให้มี “เพื่อน” ช่วยสอดส่องดูแลเพื่อนที่เข้าข่ายเกิดภาวะซึมเศร้าและให้ความช่วยเหลือสุขภาพจิตเบื้องต้น
นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันพบว่ามีผู้เป็นโรคซึมเศร้าประมาณ 1.2 ล้านคนในประเทศไทย แต่ยังมีหลายคนที่มีอาการแต่ไม่เข้าใจว่าเป็นโรคซึมเศร้า หรือคิดว่าไม่เป็นอะไรจนอาการมาก บางคนอาจแสดงออกตรงข้ามเพื่อบอกว่ายังไหว บางครั้งเรียกว่าภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น (Smiling depression) คือการแสดงออกที่ไม่ตรงไปตรงมาของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แทนที่จะรู้สึกเศร้า หดหู่ หงุดหงิด เก็บตัว ร้องไห้ กลับแสดงออกถึงความรู้สึกที่ในทางตรงกันข้าม ได้แก่ การยิ้ม หัวเราะ คิดว่าไม่เป็นอะไร
การดูแลที่สำคัญ คือ เพื่อน ครอบครัว หรือครู ทั้งนี้ช่วยกันสังเกตและเฝ้าระวังผู้มีประวัติโรคซึมเศร้า ผู้ที่มีปัญหาในชีวิต ผู้ที่มีอาการด้านอื่น ๆ ของพฤติกรรม เช่น นอนไม่หลับ ไม่อยากกิน และเมื่อรู้สึกว่าคนใกล้ชิดมีปัญหาแนะนำให้ลองทำแบบสำรวจภาวะซึมเศร้าและสุขภาพใจ ผ่านทาง MENTAL HEALTH CHECK IN (MHCI) หรือ www.วัดใจ.com หรือชวนไปพบบุคลากรทางด้านสุขภาพจิตเพื่อไม่ให้สายเกินไปและเข้าสู่การรักษาได้อย่างทันท่วงที หรือขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
8 วิธีรับมือภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นด้วยตัวเอง
1. ร้องไห้บ้างก็ได้นะ ยิงกลั้นน้ำตามากเท่าไหร่ ยิ่งเศร้ามากขึ้น
2. ไม่จำเป็นต้องฝืนยิ้ม ทำหน้าบึ้งบ้าง เครียดบ้างก็ได้
3. ผิดพลาดบ้างก็ไม่เป็นไร ลดความสมบูรณ์แบบลงสักนิด
4. เปิดใจยอมรับว่าตัวเรามีภาวะซึมเศร้า
5. บอกคนที่ไว้วางใจ ถึงสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ กล้าระบายความรู้สึกหรือขอความช่วยเหลือ
6. เขียนไดอารี่ระบายความรู้สึก โดยเฉพาะในช่วงที่ไม่กล้าเปิดใจกับใคร
7. ไม่จำเป็นต้องสร้างภาพให้ตัวเองดูดี ทุกคนมีข้อเสีย ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ
8. ไม่ควรปล่อยให้ภาวะซึมเศร้าคงอยู่นาน เพราะมีโอกาสทำร้ายตัวเองได้
ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: สุขภาพ
คำค้น: กรมสุขภาพจิต, ซึมเศร้า