MUO “U-Media Hub เครือข่ายผู้สื่อข่าวจังหวัดเชียงใหม่” และการแถลงข่าวโครงการ “CMU Negative Carbon Parking & Road เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์”

รองศาสตราจารย์ธีรภัทร วรรณฤมล คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายอัครวิทย์ ระบิน ประธานชมรมผู้สื่อข่าวจังหวัดเชียงใหม่  นายกรวุฒิ อาศนะ รองประธานชมรมสื่อออนไลน์เชียงใหม่ และนางสาวสราลี แซ่เตี๋ยว กรรมการบริหารฝ่ายปฏิบัติการ บจก. เชียงใหม่รายวัน จำกัด ภาคีเครือข่ายด้านสื่อมวลชนพื้นที่เชียงใหม่ ร่วมกับรองศาตราจารย์ ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) การเปิดใช้งานห้อง U-Media Hub ห้องอินทนิล ชั้น 1 สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีการเปิดใช้งานห้อง U-Media Hub ห้อง Co-working Space ของกลุ่มสื่อที่เป็นพื้นที่กลางในการใช้งานร่วมกันพร้อมฟังกชันสนับสนุนด้าน Hardware, Software และ Human ware สำหรับการพัฒนาเครือข่ายนักข่าวรุ่นใหม่ตอบสนองความฉับไวของการทำสื่อ ที่ทันสมัย สอดคล้องกับหนึ่งในนโยบายพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ที่สำคัญ คือการพัฒนาย่านธุรกิจการค้า Smart Nimman

รองศาตราจารย์ ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าเนื่องจากทางสำนักบริการวิชาการ (UNISERV) ยังขาดพื้นที่สร้างสรรค์การทำงานของนักข่าว ในการเขียนข่าว ทำข่าว ทำคอนเทนต์ หรือเป็นพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยน จึงเกิดแนวคิดในการสร้างห้อง U-Media Hub ขึ้น เพื่อเป็นจุดศูนย์รวมนักข่าวที่จะเข้ามาเขียนข่าวหรือแถลงข่าว โดยจะมุ่งเน้นด้านการบริการอำนวยความสะดวกในการใช้สถานที่และตั้งเป็นจุดรวมตัวของนักข่าวทุกสำนักที่ต้องการจะทำข่าว อีกทั้งจะยังเป็นช่องทางติดต่อประสานงานนักข่าวกับกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์เพื่อสร้างคอนเทนต์และเผยแพร่ไปยังช่องทางสื่อสารต่างๆ ห้อง U-Media Hub จะเป็นแหล่งรวมศูนย์ข่าวของเชียงใหม่ ให้สื่อมวลชนทุกแขนงได้มาใช้ประโยชน์ และเป็นพื้นที่กลางในการประชาสัมพันธ์ข่าวและจัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์ต่อไป

หลังจากนั้นจะมีการแถลงข่าวโครงการ “CMU Negative Carbon Parking & Road” เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นโครงการวิจัยพัฒนาถนนด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.พีรพงศ์ จิตเสงี่ยม ผู้นำเสนอโครงการและเป็นนักวิจัยชั้นแนวหน้าของไทย ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ได้ศึกษาการนำเศษวัสดุทางการเกษตร มาทำเป็นวัสดุ Carbon removal materials เป็นหนึ่งในส่วนผสมของซีเมนต์เพื่อทำถนนคอนกรีตแบบใหม่และเทคนิคการลาดยางถนนแบบซับน้ำเพื่อนำน้ำไปใช้ประโยชน์ ไม่ขังบนถนน โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.พีรพงศ์ จิตเสงี่ยม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และ นำเสนอแนวทางการดำเนินงานโดยบริษัท CPAC องค์การบริหารส่วนจังหวัดเขียงใหม่ เทศบาลนครจังหวัดเชียงใหม่ และภาคีเครือข่ายวิจัย ให้ความร่วมมือในครั้งนี้ด้วย

ซึ่งมีการวางเป้าหมายให้แล้วเสร็จก่อนพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พร้อมกับการร่วมเฉลิมฉลอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครบรอบ 60 ปี ในเดือนมกราคม .. 2567 นี้ โดยศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ตั้งเป้านโยบาย Carbon Neutral University ซึ่งมีประธานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ A2 ได้แก่ ท่านรองอธิการบดี รศ.ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร โดยจะมีการนำร่องวิจัยพัฒนาลานจอดรถและถนนแบบ Low Carbon” ในพื้นที่ลานการใช้ประโยชน์ร่วมระหว่าง สำนักบริการวิชาการ (UNISERV) และ สมาคมนักศึกษาเก่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และพัฒนาต่อไปในพื้นที่อื่น

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: การศึกษา, สังคม, ไอที - ยานยนต