กรมสุขภาพจิต ห่วงใยชาวเชียงใหม่ จากภัย PM 2.5 ประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมแผนเยียวยาทั้งทางกายและใจ สื่อสารคำแนะนำและวิธีการปฏิบัติด้วยความตระหนักแต่ไม่ตระหนก

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 กรมสุขภาพจิต โดยแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตแสดงห่วงใยพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และภาคเหนือ ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน พร้อมแนะนำขอให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ในการป้องกันผลกระทบจากฝุ่นละออง เน้นย้ำประชาชนตระหนักแต่ไม่ตระหนกจากการเสพข่าวสาร เพื่อลดความเสี่ยงจากความเครียด

นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวว่า ขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้มอบหมายให้โรงพยาบาลสวนปรุงติดตามสถานการณ์กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในจังหวัดเชียงใหม่อย่างใกล้ชิด ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5 ) ขึ้นอย่างเป็นทางการ พร้อมเน้นย้ำการประสานงานเพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ได้รับข่าวสารปลอมและเกิดความตื่นตระหนก ซึ่งจากข้อมูลของศูนย์ระวังคุณภาพอากาศ บริเวณโรงพยาบาลสวนปรุงพบว่าคุณภาพของอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพเป็นอย่างมากหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน สูงถึง 221 (μg/m3) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งส่งผลทำให้เกิดปัญหาที่รุนแรงต่อระบบทางเดินหายใจระบบหัวใจและระบบหลอดเลือด ทั้งนี้จากการสำรวจผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลสวนปรุง จำนวน 100 คน พบว่าผู้รับบริการได้รับผลกระทบมากกว่าร้อยละ 70 มีอาการแสบเคืองจมูก มีน้ำมูก และมีอาการระคายเคืองเยื่อบุตา รวมถึงเฝ้าระวังกลุ่มเปราะบางที่มีความเครียดอยู่เดิม เมื่อเจอสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เป็นปัจจัยกระตุ้น ทำให้มีอาการนอนไม่หลับ และมีความเครียดเพิ่มขึ้น

นายแพทย์กิตต์กวี กล่าวอีกว่า ปัญหาที่สำคัญคือกลุ่มผู้ให้ข้อมูลมีความกังวลต่อสภาพอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้นถึงร้อยละ 95.20 อีกด้วยของโรงพยาบาลสวนปรุง เบื้องต้นได้ดำเนินการจัดหาหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM 2.5 สำหรับผู้ป่วย บุคลากรที่มีความเสี่ยง และผู้ปฏิบัติงานในที่โล่งแจ้ง จำนวน 3,220 ชิ้น จัดหาเครื่องฟอกอากาศให้เพียงพอสำหรับหอผู้ป่วย หน่วยงานภายในต่างๆ ในโรงพยาบาล 46 เครื่อง จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการระบบทางเดินหายใจ โดยจัดห้องความดันลบเป็นห้องพักผู้ป่วยที่มีอาการระบบทางเดินหายใจชั่วคราว 1 ห้อง งดจัดกิจกรรมสำหรับผู้ป่วยกลางแจ้ง พร้อมสื่อสารให้ความรู้ด้านการป้องกันตนเองในสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 แก่ผู้รับบริการ ผู้ป่วย และบุคลากรผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์ อาทิ เฟสบุ๊ค เวบไซด์ digital Kiosk ซึ่งสถานการณ์ที่โรงพยาบาลสวนปรุงให้ความสำคัญ คือเรื่องของการตระหนกจากการรับข้อมูลข่าวสาร บางรายมีความกลัวที่จะทำกิจกรรมตามปกติ อยากขอให้ทุกท่านมีสติในการรับทราบข้อมูล เพราะหากมีการเตรียมตัวที่ดี อุปกรณ์ป้องกันพร้อมก็จะช่วยประชาชนลดความเครียด ความกังวลได้ หรือกรณีการใช้ชีวิตนอกบ้าน ทุกคนยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ หากปฏิบัติตามคำแนะนำและสวมอุปกรณ์ป้องกันอยู่เสมอ ทั้งนี้โรงพยาบาลสวนปรุงจะได้สำรวจผลกระทบทางสุขภาพของผู้รับบริการ ผู้ป่วยใน และบุคลากรเพื่อประเมินสถานการณ์ระดับความรุนแรงที่มีผลกระทบทุกสัปดาห์

อย่างไรก็ตาม คนในครอบครัวคือปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกันดูแล สร้างนิสัยในการระวังภัยจากฝุ่น และขอให้ช่วยดูแลสภาพจิตใจของกันและกันด้วย หากพบว่าใครเครียด กังวล นอนไม่หลับ ให้หาวิธีผ่อนคลายความเครียดด้วยตนเอง เช่น ออกกำลังกายในที่ร่ม ฟังเพลง งดเสพข่าวที่มากเกินไป หรือสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน โรงพยาบาลสวนปรุง พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: Uncategorized
คำค้น: , , ,