วว.นำเสนอนวัตกรรมต้นแบบวัสดุคอมพอสิตสำเร็จรูปแก่ วช. เพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำคลองชลประทาน/บรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ

ดร.ศิริพร ลาภเกียรติถาวร ผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ (ศนว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และดร.เจต พานิชภักดี นักวิจัยอาวุโส ศนว. ในฐานะหัวหน้าโครงการการพัฒนาต้นแบบวัสดุคอมพอสิตสำเร็จรูป นำเสนอการใช้งานของต้นแบบวัสดุคอมพอสิตสำเร็จรูป ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำคลองชลประทาน ลดการสูญเสียน้ำ บรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ ให้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานสนับสนุนงบประมาณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในภารกิจติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการวิจัย ในพื้นที่คลองส่งน้ำของสำนักงานชลประทานที่ 13 กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566

ผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ (ศนว.) กล่าวว่า วว. ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ในการดำเนินการพัฒนาต้นแบบวัสดุคอมพอสิตสำเร็จรูป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำคลองชลประทาน โดยที่ผ่านมาน้ำชลประทานถูกลำเลียงไปตามคลองส่งน้ำและไหลลงสู่คลองระบายน้ำที่เป็นคลองดิน พบปัญหาการสูญเสียน้ำในระบบส่งน้ำ เนื่องจากการซึมของน้ำชลประทานผ่านวัสดุก่อสร้างคลองที่เป็นดิน ส่งผลให้คลองส่งน้ำที่ใช้งานเป็นระยะเวลานานนิยมที่จะปรับปรุงด้วยการดาดคลองส่งน้ำด้วยคอนกรีต ซึ่งมีคุณสมบัติในการป้องกันการรั่วซึมของน้ำได้ แต่ปัญหาสำคัญที่มักจะเกิดขึ้นกับคลองส่งน้ำลาดด้วยคอนกรีต คือ การเกิดโพรงใต้แผ่นคอนกรีตจากการกัดเซาะของน้ำเป็นรูโพรง และปัญหาการรั่วซึมของน้ำผ่านคลองที่มีปริมาณมากกว่าการออกแบบ รวมทั้งการเจริญเติบโตของวัชพืชน้ำ ซึ่งเกิดจากดินบริเวณใต้ผนังลาดคอนกรีตเกิดการทรุดตัวจากการเลื่อนไหล ทำให้ผนังลาดคอนกรีตเกิดการแตกร้าว และเมื่อเกิดการกัดเซาะของวัสดุใต้แผ่นคอนกรีตแล้วจะพังทลายได้ในท้ายที่สุด ส่งผลให้เกิดการสูญเสียน้ำถึงร้อยละ 70 และไม่สามารถส่งน้ำไปถึงพื้นที่เพาะปลูกได้ตามเป้าหมาย โดยในต่างประเทศได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำ และลดการสูญเสียน้ำโดยการใช้แผ่นเมมเบรนจากวัสดุพอลิเมอร์สังเคราะห์ในการส่งน้ำ ซึ่งพบว่ามีข้อดี คือ ติดตั้งง่าย ใช้เวลาน้อย และมีการสูญเสียน้ำในระหว่างการส่งน้ำที่น้อย

ดร.เจต พานิชภักดี นักวิจัยอาวุโส ศนว. วว. กล่าวว่า ที่ผ่านมา วว.ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาชุดวัสดุป้องกันการกัดเซาะจากวัสดุทางธรรมชาติ สำหรับใช้งานปูทับหน้าตลิ่งเพื่อป้องกันการกัดเซาะของน้ำ ประกอบด้วย ชั้นป้องกัน ทำหน้าที่รับแรงอัดหรือแรงเฉือนที่เกิดจากการไหลของกระแสน้ำ และป้องกันเศษหินหรือกรวดที่พัดมากับกระแสน้ำที่จะทำให้ชั้นเมมเบรนเกิดความเสียหายได้ โดยวัสดุชั้นป้องกันมีผิวเรียบ มีความต้านทานแรงอัดมากกว่า 150 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร และถูกออกแบบให้สามารถร้อยสลิงได้ ซึ่งจะถูกนำมาวางทับบนชั้นเมมเบรนทำหน้าที่กักเก็บผิวดินไม่ให้ถูกชะออกจากบริเวณแนวตลิ่งและป้องกันการซึมผ่านของน้ำ

นอกจากนั้น โครงสร้างชุดวัสดุคอมพอสิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำ เป็นโครงสร้างสำเร็จรูปที่พร้อมติดตั้งได้ทันที และยังสามารถปรับสภาพหรือปรับระดับตามพื้นผิวได้เล็กน้อย เมื่อมีการทรุดของดินบริเวณที่ถูกปูทับ เนื่องจากชั้นป้องกันของชุดวัสดุคอมพอสิต มีโครงสร้างที่ประกอบด้วยบล็อกที่มีความแข็งแรงขนาดเล็ก ที่เกี่ยวร้อยด้วยเส้นเสริมแรงภายใน ทำให้สามารถปรับระดับตัวได้เล็กน้อย เมื่อดินเกิดการทรุดตัว ในขณะที่ชั้นเมมเบรนของชุดวัสดุคอมพอสิต ที่วางใต้ชั้นป้องกัน มีระยะยืดตัวมากกว่าร้อยละ 40 เมื่อได้รับแรงภายนอกมากระทำ ทำให้สามารถปรับระดับตัวได้เช่นกัน ซึ่งแตกต่างจากการดาดคอนกรีตที่เป็นโครงสร้างแบบแผ่นแข็งและวางบนดิน ที่จะสามารถลดการเกิดปัญหาการพังทลายของโครงสร้างและการรั่วซึมของน้ำได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ชุดวัสดุคอมพอสิตสำหรับใช้งานส่งน้ำชลประทาน สามารถนำไปติดตั้งบนคลองดิน หรือใช้ซ่อมแซมคลองส่งน้ำเดิมได้ง่ายและสะดวก ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำ ลดการสูญเสียน้ำ เกษตรกรและชุมชนในพื้นที่ท้ายน้ำสามารถได้รับน้ำในปริมาณที่เพิ่มขึ้นและรวดเร็วขึ้น ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ วว. ติดต่อ ได้ที่ โทร. 0 2577 9000, 0 2577 9427 โทรสาร 0 2577 9426 E-mail : siriporn@tistr.or.th

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: สิ่งแวดล้อม
คำค้น: , , , , , ,