จังหวัดเชียงใหม่จัดงาน “Chiang Mai Blooms 2023” เทศกาลเชียงใหม่เบิกบาน ผ่านเรื่องราวของของดอกไม้ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ 2566

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงาน “Chiang Mai Blooms 2023”เทศกาลเชียงใหม่เบิกบาน ณ พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ในวันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 พร้อมกล่าวว่า เทศกาลเชียงใหม่เบิกบาน ประจำปี 2566 “Chiang Mai Blooms 2023” ซึ่งได้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 และได้รับการยกระดับให้เป็นเทศกาลระดับนานาชาติ อีกทั้งยังได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จังหวัดเชียงใหม่ได้รับรางวัล IFEA เมืองเทศกาล หรือ World and Event Association ซึ่ง Chiang Mai Blooms หรือ เทศกาลเชียงใหม่เบิกบานเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เป็นเทศกาลหลัก ที่สามารถยกระดับ และสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่น ให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนให้เป็น Flagship Homegrown festival และเป็นอีกหนึ่งสีสันที่จะช่วยกระตุ้น และฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทย รวมไปถึงการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกำลังกลับสู่ภาวะปกติหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้พื้นที่ท่องเที่ยวต่างๆ มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ทั้งชาวไทยและต่างชาติ และจังหวัดเชียงใหม่ยังคงเป็นจุดหมายสำคัญที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ
​​สำหรับการจัดงานเทศกาลเชียงใหม่เบิกบาน ประจำปี 2566 “Chiang Mai Blooms 2023” จังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมสนับสนุนให้ภาคธุรกิจของจังหวัดเชียงใหม่ ยังคงสร้างผลิตภัณฑ์และบริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยดึงดูดนักเดินทางภายในประเทศเข้ามาใช้จ่าย ในจังหวัดเชียงใหม่ผ่านกลยุทธ์ที่ท่านผู้จัดงานเทศกาลเชียงใหม่เบิกบาน ได้จัดขึ้นร่วมกับภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยนำเรื่องราวของดอกไม้นานาพรรณสู่เป้าหมายหลัก คือ การช่วยเหลือผู้ประกอบการ และทำให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นหมุดหมายปลายทางท่องเที่ยวเมืองแห่งดอกไม้ในระดับโลก “ได้รับทราบว่าภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ผลิตและจำหน่ายดอกไม้ ตลอดจนธุรกิจภาคท่องเที่ยว และภาคการบริการของจังหวัดเชียงใหม่ ได้เข้ามาร่วมสร้างกิจกรรมเทศกาลเชียงใหม่เบิกบาน ประจำปี 2566 กว่า 16 กิจกรรม ตลอดปฏิทินท่องเที่ยวเดือนกุมภาพันธ์ และสามารถสร้างคอนเทนต์มากมายที่เกี่ยวกับดอกไม้ ซึ่งผมคาดหวังว่าเทศกาลเชียงใหม่เบิกบาน ประจำปี 2566 จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นของจังหวัดเชียงใหม่ ให้กลับมาครึกครื้นอีกครั้ง” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว.
​​ด้าน นางสาวสุลัดดา ศรุติลาวัณย์ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่ (ททท.) กล่าวถึงนโยบายในการส่ง เสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ตามนโยบายของททท. ว่า สำหรับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ปี 2566 ที่กำลังจะมาถึง จะเป็นปีแห่งการเริ่มต้น และพลิกฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย โดย ททท. กำหนดทิศทางการตลาดให้สอดคล้องกับแผนวิสาหกิจองค์กร ททท. พ.ศ.2566 – 2570 ภายใต้วิสัยทัศน์ “ททท. เป็นผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยในการสร้าง ประสบการณ์ทรงคุณค่ามุ่งสู่ความยั่งยืน” เตรียมยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูในทุกมิติ ตาม 3 วัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์หลัก (Strategic Objective) ได้แก่ Drive Demand : มุ่งเน้นการท่องเที่ยว เชิงคุณภาพอย่างยั่งยืน Shape Supply : สร้างคุณค่าและยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผ่านการสร้างระบบ นิเวศด้านการท่องเที่ยวใหม่ (New Tourism Ecosystem) และ Thrive for Excellence : ยกระดับองค์กรสู่ องค์กรสมรรถนะสูง มุ่งสู่การเป็น Data Driven Organization เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้าน การตลาด สู่หมุดหมายของการพัฒนาการท่องเที่ยวไทยเปลี่ยนผ่านสู่ High Value & Sustainable Tourism อย่างแท้จริง
โดย ททท. จะกระตุ้นความต้องการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติ (Drive demand) สร้างประสบการณ์การเดินทางที่มีความหมายและทรงคุณค่าให้กับนักท่องเที่ยว (Meaningful Travel) ตามแคมเปญการสื่อสารต่างประเทศ Visit Thailand Year 2022-2023 : X (5F : 4M คือ Food Film Fashion Festival Fight Music Museum Master Meta ) และ “เที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม” สำหรับแคมเปญ การสื่อสารในประเทศ ควบคู่ไปกับการปรับ ต่อยอด และพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (Shape supply) สร้างระบบนิเวศ ด้านการท่องเที่ยวใหม่ (New Tourism Ecosytem) ที่สมดุลใน 4 มิติ (4Ws) ทั้งด้านเศรษฐกิจ (Economic Wealth) สังคม (Social Wellbeing) สิ่งแวดล้อม (Environmental Wellness) และเสริมสร้างภูมิปัญญามนุษย์ (Human Wisdom) รวมทั้ง บูรณาการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับทุกภาคส่วน (Collaborative partnership) ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เพื่อให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมด้านการแข่งขันและความท้าทายด้านเศรษฐกิจ และสังคมที่เพิ่มขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ เพื่อปักหมุดหมายการท่องเที่ยวของไทย ยกระดับ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (High value and sustainability) ทั้งนี้ ปี 2566 นับเป็นปีแห่งความท้าทายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสู่บทต่อไปอย่าง แข็งแรงอีกครั้ง ในตลาดต่างประเทศ ททท. ยังให้ความสำคัญกับการ Save Partner โดยเฉพาะธุรกิจสายการบิน เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจากการเพิ่มความจุที่นั่ง (Seat Capacity) โดยดึงฐานลูกค้าเดิมในพื้นที่ตลาดหลักที่ นักท่องเที่ยวทั่วไปสามารถออกเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างอิสระตามปกติและสามารถออกเดินทางได้ทันที โดยมุ่งกระตุ้นความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มคุณภาพกระแสหลัก อาทิกลุ่ม Millennials กลุ่ม Gen X และ กลุ่ม Silver-Age-People (SAP) และเจาะขยายฐานตลาดกลุ่มความสนใจพิเศษโดยเฉพาะ กลุ่ม Health & Wellness กลุ่มท่องเที่ยวเชิงกีฬา กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เที่ยวอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงกลุ่มตลาดเฉพาะใหม่ๆ อาทิ กลุ่ม Digital nomad และ กลุ่ม Telework ซึ่ง ททท. จะปรับสมดุล โครงสร้างตลาด ผ่านการส่งเสริมตลาดแบบ Less for more เพื่อมุ่งขยายตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพ
ขณะที่ นางจุฑา ธาราไชย ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนากลยุทธ์องค์กรสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า การจัดงาน “เชียงใหม่บลูมส์” โดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. (ทีเส็บ) ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 เพื่อยกระดับมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับเชียงใหม่ด้วยงานเชียงใหม่บลูมส์ เพื่อขยายโอกาสและสร้างรายได้เพิ่มเติม โดยเชิญชวนนักท่องเที่ยวและชาวไมซ์มาอยู่หอม กินหอม ทํากิจกรรมต่างๆ ผ่านเรื่องราวของของดอกไม้ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ 2566 นี้
​​ด้านนางละเอียด บุ้งศรีทอง นายกสมาคมวิศิษฎ์ล้านนาเพื่ออุตสาหกรรมไมซ์และการท่องเที่ยว กล่าวว่า สำหรับการจัดงานเชียงใหม่บลูมส์ในปี 2566 นี้ ใช้ธีมงานว่า Magic Moments หรือ มนต์เสน่ห์เมืองไม้งาม ภายใต้แนวคิด “กินหอม อยู่หอม” เพื่อสะท้อนถึงช่วงเวลาที่มนต์เสน่ห์ของดอกไม้จะนําทางผู้คนมากินหอม อยู่หอมด้วยกันที่จังหวัดเชียงใหม่ ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 – 28 กุมภาพันธ์ 2566 โดยจะมีกิจกรรมไฮไลท์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ ครอบคลุมในด้านต่างๆ ทั้งศิลปหัตถกรรม อาหาร ดนตรี ความคิดสร้างสรรค์ หลากหลายกิจกรรมกระจายตัวทั่วเมืองเชียงใหม่ อาทิ Blooms Wisdom นิทรรศการองค์ความรู้เกี่ยวกับดอกไม้ที่เชื่อมโยงวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมของชาวล้านนา , Blooms City Gallery นิทรรศการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะดอกไม้ร่วมกับนักจัดดอกไม้ ศิลปิน ผู้จัดเทศกาลร่มบ่อสร้าง หน่วยงานสร้างสรรค์และชุมชน , Blooms Market การออกร้านอาหารและเครื่องดื่มของผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหารในจังหวัดเชียงใหม่ , Blooms Bazaar การออกร้านอาหาร เครื่องดื่มงานคราฟท์ของผู้ประกอบการและชุมชนในตลาดนัดชื่อดังทั่วเมือง , Blooms Coffee & Tea สัมผัสกลิ่น อายดอกไม้กับวัฒนธรรมการดื่มชา กาแฟ , Blooms Eatery การนําดอกไม้มารังสรรค์เป็นอาหารรสชาติพิเศษในบรรยากาศสวนดอกไม้ , Blooms Run การวิ่งเส้นทางดอกไม้ , Blooms Wellness สปาดอกไม้ , กิจกรรม Blooms Beat คอนเสิร์ตกลางทุ่งดอกไม้ และ Flowers on the Table มื้ออาหารที่พิเศษที่สุดของเชียงใหม่ในบรรยากาศสุนทรีย์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเทศกาล
​​ทั้งนี้ในยุคที่ตลาดท่องเที่ยวของโลกแข่งขันกันเรื่องอัตลักษณ์และประสบการณ์ที่แตกต่างของจุดหมายปลายทางนั้น จังหวัดเชียงใหม่มีข้อได้เปรียบด้วยทรัพยากรด้านอารยธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ที่เป็นมรดกและสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม เป็น Soft Power ที่จะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมากมายมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับถือเป็นเทศกาลระดับตํานาน เป็นสัญลักษณ์และภาพจําของเมือง ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมต่าง ๆ ของงาน เชียงใหม่บลูมส์ได้ที่ www.chiangmaiblooms.com และ https://www.facebook.com/chiangmaiblooms และ ช่องทางจำหน่ายบัตร Chiang Mai Blooms ได้ที่ลิ้งค์ https://shop.line.me/@646qmtac

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: กิจกรรม, ท่องเที่ยว, ที่กิน, ที่เที่ยว, วัฒนธรรม
คำค้น: , , , , ,