ทีเส็บภาคเหนือรุก City Marketing จังหวัดเชียงใหม่ผ่านแพลตฟอร์ม TAGTHAI


ทีเส็บภาคเหนือผนึกภาคีเครือข่ายผู้ประกอบการไมซ์และท่องเที่ยวจัดทำการตลาดเมือง (city marketing) ขยายผลแคมเปญ “เชียงใหม่ที่เดียว กิน เที่ยว ประชุม” เฟสที่สอง ชูแพลตฟอร์มออนไลน์ “TAGTHAi (ทักทาย)” เป็นช่องทางตลาดขายสินค้าและบริการของเมืองดึงดูดนักเดินทางไมซ์ทั้งในและต่างประเทศ ส่งเสริมจังหวัดเชียงใหม่ในฐานะจุดหมายปลายทางระดับโลก

10 พฤศจิกายน 2565 – ดร. จุฑา ธาราไชย ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคเหนือ เปิดเผยในการจัดประชุมผู้ประกอบการจังหวัดเชียงใหม่เพื่อจัดทำ City Marketing ว่า ทีเส็บเล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำตลาดเมืองเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ รวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะสร้างประสบการณ์เพิ่มเติมแก่นักเดินทางไมซ์ที่เข้ามาทำกิจกรรมในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการประชุม การเดินทางเป็นรางวัล งานแสดงสินค้า งานเทศกาล รวมทั้งการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติต่าง ๆ ที่สามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ กระจายรายได้ รวมทั้งต่อยอดเพิ่มโอกาสใหม่ ๆ แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งการทำตลาดบนดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นช่องทางที่จะมาช่วยตอบโจทย์การตลาดได้อีกทางหนึ่ง จึงได้เลือกแอพพลิเคชั่น TAGTHAi (ทักทาย) ซึ่งเป็นแพล็ตฟอร์มการท่องเที่ยวแห่งชาติมาร่วมเป็นพันธมิตรและเป็นเครื่องมือทางการตลาดในการทำ City marketing ครั้งนี้ เป็นการต่อยอดแคมเปญ “เชียงใหม่ที่เดียว กิน เที่ยว ประชุม” ในระยะที่สอง โดยได้รับการสนับสนุนและร่วมมือจากภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นหอการค้าฯ, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ, สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวฯ, สมาคมร้านอาหารและสถานบันเทิง, สมาคมไทยล้านนาสปา, เครือข่ายท่องเที่ยวชุมชน ฯลฯ


ปัจจุบัน แอพพลิเคชั่น TAGTHAi (ทักทาย) มีการนำเสนอสินค้าและบริการของจังหวัดเชียงใหม่ในรูปแบบ City Pass คือ Chiang Mai City Pass ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้าร่วมบนแอพฯ จำนวนกว่า 35 รายใน 4 หมวด ได้แก่ Dining (อาหาร เครื่องดื่ม คาเฟ่), Attractions/activities (แหล่งท่องเที่ยว กิจกรรม), Relax (บริการผ่อนคลาย เช่น นวด สปา), Communities (ท่องเที่ยวชุมชน) ทางทีเส็บและทักทายเห็นโอกาสที่จะเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการบนแอพพลิเคชั่นเพื่อขยายผลทางการตลาดและสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ใช้บริการเพิ่มเติม จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ข้างต้นจัดประชุมผู้ประกอบการเพื่อชี้แจงรายละเอียด หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และเชิญชวนเข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ ทางทีเส็บภาคเหนือจะจัดทำ City Pass พิเศษชื่อว่า “TCEB Muanjai Pass” บนแอพพลิเคชั่น TAGTHAi โดยคัดเลือกสินค้าและบริการที่มีศักยภาพและความน่าสนใจ มาจัดทำโปรโมชั่นพิเศษนำเสนอแก่ผู้จัดกิจกรรมไมซ์ตามความเหมาะสมของกิจกรรมและกลุ่มเป้าหมายที่มาร่วมงานนั้น ๆ ซึ่งได้นำร่องไปแล้ว 2 กิจกรรมด้วยกัน คือ งาน 20th Bangkok Chess Club Open 2022 และการแข่งขัน AMAZING THAILAND WORLD MOUNTAIN & TRAIL RUNNING CHAMPIONSHIPS ที่ผ่านมา


นายนพพล อนุกูลวิทยา Senior Advisor บริษัท ไทย ดิจิทัล แพลตฟอร์ม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กล่าวว่า ทางทักทายได้ร่วมกับทีเส็บภาคเหนือจัดทำ Pass พิเศษแก่กลุ่มไมซ์ตั้งแต่แคมเปญ “เชียงใหม่ที่เดียว กิน เที่ยว ประชุม” ในระยะแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 เริ่มจากงาน FTI Expo และการแข่งขันสปาร์ตัน ซึ่งพบว่ามีผลตอบรับที่น่าพึงพอใจถือเป็นการสร้างการรับรู้ในวงกว้างขึ้น และเพื่อขยายผลทางการตลาดต่อเนื่อง ทางทักทายและทีเส็บภาคเหนือจึงเห็นว่าการเพิ่มจำนวนสินค้าและบริการแก่ผู้ใช้บริการมีส่วนสำคัญในการเพิ่มโอกาสด้านการขาย จึงเปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมบนแอพพลิเคชั่นเพิ่มเติม โดยมีแผนส่งเสริมการตลาด Chiang Mai City Pass และ TCEB Muanjai Pass ทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ อาทิ การใช้ Travel Influencers ชื่อดังมาร่วมประชาสัมพันธ์ หรือการจัดกิจกรรมการตลาดในพื้นที่


“การทำการตลาดเมืองหรือ City marketing บนดิจิทัลแพลตฟอร์มช่วยเปิดโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ โดยเฉพาะกลุ่มนักเดินทางไมซ์จากต่างประเทศ ซึ่งจุดเด่นของแอพพลิเคชั่นทักทายคือเป็นการรวบรวมสินค้าและบริการที่เป็นประโยชน์สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศและลูกค้าชาวไทยระดับไฮเอนด์ รวมไปถึงการแจก Tourist Simcard ฟรี และ สามารถใช้แอพพลิเคชั่นทักทายในการแลกเงินด้วยอัตราพิเศษได้ที่ตู้ และสาขาของธนาคารกสิกรไทยกว่า 400 แห่งทั่วประเทศอีกด้วย สอดคล้องกับสิ่งที่ทีเส็บต้องการส่งเสริมให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทางระดับพรีเมี่ยม แพลตฟอร์มทักทายเป็นเครื่องมือที่จะลดการแข่งขันด้านราคาของผู้ประกอบการ ช่วยส่งเสริมให้เกิดการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ แก่ผู้มาเยือนผ่านการออกแบบคอนเทนท์และเส้นทางที่เหมาะกับความต้องการที่แตกต่างของนักเดินทาง และยังเป็นช่องทางตลาดทางเลือกใหม่ของผู้ประกอบการอีกด้วย ทีเส็บภาคเหนือมุ่งหวังจะให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นโมเดลนำร่องในการทำ City marketing เพื่อช่วยสร้างเศรษฐกิจและกระจายรายได้ในพื้นที่ รวมทั้งวางแผนจะขยายผลไปยังเมืองเป้าหมายอื่น ๆ ที่มีศักยภาพต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ การทำการตลาดในระดับเมืองเป็นการสร้างแรงดึงดูดใจ แสดงความพร้อมในการเป็นเจ้าบ้านรับนักเดินทางไมซ์และนักท่องเที่ยวทั้งไทยและนานาชาติของจังหวัดเชียงใหม่ ตอกย้ำความเป็นเมืองจุดหมายปลายทางในระดับสากล” ดร. จุฑา กล่าวสรุป

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: การศึกษา, ไอที - ยานยนต