คุ้มเสือ Tiger Kingdom แม่ริม เชียงใหม่ จัดพิธีไหว้ครูพยัคฆราช (ไหว้ครูเสือ) ประจำ ปี2565 ตามขนบธรรมเนียมโบราณล้านนา

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2565 ทางคุ้มเสือ Tiger Kingdom แม่ริม เชียงใหม่ จัดพิธีไหว้ครูพยัคฆราช (ไหว้ครูเสือ) ประจำ ปี2565 ตามขนบธรรมเนียมโบราณล้านนา

พลตรีหญิง กชกร ไชยบุตร กรรมการบริษัทคุ้มเสือตระการจำกัด กล่าวว่า เนื่องจากคุ้มเสือ (Tiger Kingdom) แม่ริม เชียงใหม่ ได้จัดพิธีไหว้ครูเสือเป็นประจำทุกปี เพื่อแสดงความเคารพและแสดงกตเวทิตาคุณ ต่อสิ่ง ศักดิสิทธิ์และครูบาอาจารย์ที่ได้ประสิทธิประสาทองค์ความรู้สรรพวิชาในการดูแลอภิบาลเสือและปกป้องคุ้มครองบรรดาเสือ ผู้ดูแลเสือ รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข

หากแต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ทางคุ้มเสือต้องงดจัดพิธีเป็นเวลาติดต่อกันหลายปี จนกระทั่งในปี 2565 นี้ เมื่อทางภาครัฐได้กลับมาฟื้นฟูและส่งเสริมการท่องเที่ยว จึงเป็นโอกาสสำาคัญที่ทางคุ้มเสือ แม่ริม เชียงใหม่ จะได้กลับมาจัดพิธีไหว้ครูเสือ เพื่อสืบสานธรรมเนียมประเพณีอันดีงามซึ่งเคยถือปฏิบัติสืบมา และยังเป็นการประชาสัมพันธ์ รวมถึงส่งเสริมและกระตุ้นภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ที่ซบเซาลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

โดยรูปแบบและแนวคิดในการจัดงาน นั้นจะเป็นพิธีไหว้ครูพยัคฆราช (ไหว้ครูเสือ) เป็นการรื้อฟื้นนำเอาภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สั่งสมกันมาหลายชั่วรุ่นมาเป็นแกนกลางในการจัดพิธีกรรม เพื่อให้มีความยิ่งใหญ่สวยงามท่ามกลางวงล้อมของบรรดาเสือโคร่งที่สามารถสัมผัสได้ถึงพลังแห่งชีวิตและจิตวิญญาณแห่งอำนาจ โดยมุ่งหวังให้กิจกรรมไหว้ครูเสือนี้สามารถพัฒนาไปเป็นกิจกรรมประจำปีซึ่งบรรจุอยู่ในปฏิทินท่องเที่ยว
ประจำปีของทางอำเภอแม่ริมและทางจังหวัดเชียงใหม่ได้ในอนาคต ซึ่งถือว่าเป็นที่แรกและที่เดียวในโลก

นอกจากนี้พิธีไหว้ครูเสือยังเป็นส่วนหนึ่งของการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับเสือ เพื่อจัดทำเป็นคู่มือเรียนรู้เชิงบูรณาการและเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับเสือ ตามนโยบายของทาง Tiger Kingdom อีกด้วยพิธีไหว้ครูเสือ จัดขึ้นในรูปแบบผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยประยุกต์และวัฒนธรรมล้านนา โดยจัดให้มีพิธีสักการะบูชาทั้งในภาคพิธีสงฆ์ โดยพระเถราจารย์ และพิธีท้องถิ่นโดยพฤฒาจารย์ผู้มีความรู้

ซึ่งขั้นตอนพิธีกรรมประกอบไปด้วย

1. การไหว้ครูพยัคฆราช คือ การแสดงความเคารพและน้อมรำลึกถึงพระคุณของบรรดาสิ่งศักดิ์และครูบาอาจารย์ผู้ประทานสรรพวิชาในการอภิบาลคุ้มครองบรรดาเสือโคร่ง และผู้ดูแล ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อทุกท่านให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข โดยเฉพาะองค์ปู่เจ้าสมิงพราย บรมครูเสือผู้ทรงไว้ซึ่งสรรพวิชาและสรรพาคมอันแก่กล้า เป็นที่เคารพของชาวไทยมาแต่เดิม ดังปรากฎเรื่องราวอิทธิฤทธิ์ของท่านในลิลิตพระลอ วรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดเรื่องหนึ่งของไทย

2. พิธีครอบครู คือ การอัญเชิญบุญญาบารมีของบรรดาครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทความรู้ในวิทยาการด้านต่างๆมาสถิตเพื่อปกปักรักษาและคุ้มครองผู้ที่ตั้งเจตจำนงเข้ารับการครอบครูทุกท่าน

3. พิธีสักยันต์และลง นะ หน้าทอง การสักยันต์และการลง นะ หน้าทองนั้น เป็นเสมือนอาภรณ์ประดับกายชิ้นหนึ่ง แต่เป็นอาภรณ์อันทรงพลังอำนาจที่จะบันดาลให้เกิดอำนาจบารมี และเกิดเมตตามหานิยมต่อผู้น้อมรับไว้กับตัว โดยในพิธีนี้จะมีการสักยันต์พญาเสือเผือก ซึ่งถือกันว่าเป็นราชาแห่งบรรดาเสือทั้งหลาย จึงมีอำนาจบารมี และเมตตาที่สูงส่ง พร้อมกับทำการเชิญพลังปราณแห่งบรรดาเสือโคร่งในมณฑลพิธีเข้ามาสถิตบนมนตราแห่งยันต์พญาเสือเผือก ส่วนพิธีลง นะ หน้าทองนั้น ถือกันว่าเป็นการเสริมพุทธคุณด้านเมตตามหานิยม ให้เป็นที่รักใคร่เมตตาแก่ผู้พบเห็น

4. การถักประเจียดมงคลและไหว้ครูมวยไทย มวยไทยถือเป็นศิลปะป้องกันตัวที่สืบทอดมากับคนไทยเป็นเวลาช้านาน การไหว้ครูถือเป็นการแสดงความเคารพต่อบรรดาครูผู้สืบทอดสั่งสอนวิชา และยังเป็นการอัญเชิญครูทั้งหลายให้มาสถิตเพื่อประทานความคงกระพันชาตรี ความแข็งแกร่งยืนยงให้แก่ผู้ไหว้ค ขณะที่ผ้าประเจียดซึ่งได้รับการถักโดยครูมวยนั้น จะมีการเสกคาถาและได้รับการอธิษฐานจิตโดยพระเถราจารย์ เพื่อใช้เป็นเครื่องป้องกันศัตรูผู้คิดร้าย และเสริมความคงกระพันเข้มแข็งทั้งทางกายและใจสำหรับผู้สวมใส่

5. นิทรรศการ เสือ: จิตวิญญาณแห่งสังคมไทย เป็นนิทรรศการให้ความรู้แก่ผู้ร่วมงานเกี่ยวกับพิธีกรรมไหวัครูเสือและธรรมเนียม จารีต ความเชื่อที่เกี่ยวกับเสือในสังคมไทยและสังคมเอเชีย

6. กิจกรรมรับพลังเสือ (Power spot) เป็นกิจกรรมประยุกต์ระหว่างกิจกรรมเชิงอนุรักษ์และเชิงวัฒนธรรม ส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องพันธุ์เสือประเภทต่าง ๆ ควบคู่ไปกับความเชื่อเกี่ยวกับพลังอำนาจในเสือสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้แก่ เสือโคร่งขาวสัญลักษณ์แห่งเทพประจำทิศตะวันตก และเทพผู้ปราบอธรรม ในความเชื่อจีนและญี่ปุ่น พญาเสือโคร่ง สัญลักษณ์แห่งพลังอำนาจและบารมีตามความเชื่อของชาวไทย เสือโคร่งทอง ธาตุน้ำ เสือโคร่งประจำปีเสือ 2565

และ 7. พิธีอธิษฐานจิตวัตถุมงคลพยัคฆ์บารมี รุ่น 2 วัตถุมงคลซึ่งได้รับการจัดสร้างเพื่อเป็นเครื่องรางสิริมงคลติดตัว ซึ่งได้รับการอธิษฐานจิตโดยพระ
เถราจารย์หลายรูปหลายวาระ วัตถุมงคลพยัคฆ์บารมียังเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุ์เสือเนื่องจากสร้างขึ้นโดยวัสดุและมวลสารมงคลแทนที่การใช้เขี้ยวเสือ หนังเสือ หรืออวัยวะจากร่างกายเสือจริง ๆ

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: กิจกรรม, ท่องเที่ยว, ที่เที่ยว, วัฒนธรรม
คำค้น: , , , , , , ,