วันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 กรมสุขภาพจิต โดยโรงพยาบาลสวนปรุง สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ และ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 จัดโครงการรณรงค์สัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2565 “วัดใจ เติมพลัง สังคมมีสุข” ในเขตสุขภาพที่ 1 กิจกรรมสถานีเติมฮัก (HUG) สร้างรอยยิ้ม เพื่อรณรงค์วัดใจเติมพลังสำหรับประชาชน
นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในนามผู้แทนรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเล็งเห็นความสำคัญในการดูแลสุขภาพจิตของประชาชนชาวไทย รวมถึงการรณรงค์ส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพจิต ซึ่งการดำเนินงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2565 ในปีนี้มีแนวคิดที่สนับสนุนนโยบายดังกล่าวด้วยการเชิญชวนให้ทุกคนร่วม “วัดใจ เติมพลัง สังคมมีสุข” รวมไปถึงการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตได้อย่างรวดเร็วโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและส่งเสริมองค์ความรู้ทุกระดับผ่านการเพิ่มพูนความรู้ด้วยการ “เติมพลัง” ในทุกวัยให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งผู้ที่วัดใจและเติมพลังได้อย่างเหมาะสมจะสามารถช่วยเหลือดูแลตนเองและคนรอบข้างได้ นำไปสู่การสร้าง “สังคมมีสุข” ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในปีนี้กรมสุขภาพจิตสนับสนุนให้ทุกพื้นที่ร่วมวัดใจ ผ่าน www.วัดใจ.com หรือ MENTAL HEALTH CHECK IN จากสถิติผู้ทำแบบประเมินใน 8 จังหวัด เขตสุขภาพที่ 1 มีจำนวน 102,960 ราย มีความเครียด ร้อยละ 16.60 เสี่ยงซึมเศร้า ร้อยละ 18.55 ทางหน่วยงานด้านสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้องคือ โรงพยาบาลสวนปรุง สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 รวมทั้งโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะหน่วยที่ให้การดูแลด้านสุขภาพจิตได้โทรศัพท์ติดตามช่วยเหลือผู้ที่ประสบภาวะดังกล่าว ซึ่งมีความครอบคลุมถึงร้อยละ 93.86 ให้คำปรึกษาเบื้องต้น สร้างความเข้มแข็งทางใจรายบุคคล ในผู้ที่มีความเสี่ยงรุนแรงมีการประสานอาสาสมัครชุมชนในการช่วยเหลือต่อไป
การวัดใจเป็นการตั้งคำถามกับตนเองว่ายังไหวไหม ใจสู้หรือเปล่า เพราะนอกจากจะเป็นการดูแลสุขภาพจิตในระดับบุคคล ยังเป็นการตรวจสอบสัญญาณเตือนความเสี่ยงต่างๆ เพื่อป้องกันและจัดการให้กลุ่มเสี่ยงสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้มีเพียงแค่โรคทางจิตเวชเท่านั้น ยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางใจ อันจะนำไปสู่ความเครียดและก่อให้เกิดความรุนแรงในสังคมได้ การรู้เท่าทันและสามารถค้นพบปัญหาได้อย่างรวดเร็ว จะสามารถทำให้เราหาวิธีการเพื่อช่วยเหลือและป้องกันได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งการพัฒนาความเข้มแข็งทางใจหรือ Resilience จะทำให้เกิดพลังแห่ง อึด ฮึด สู้ ด้วยตนเองสามารถก้าวผ่านสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า หรือปัญหาสุขภาพจิตไปได้ ซึ่งยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปการช่วยเหลือและสร้างองค์ความรู้ที่มีความยั่งยืนจากความต้องการของบริบททางสังคมจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่มีความสุขอย่างแท้จริง
นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมมีลักษณะซับซ้อนขึ้น ทั้งสื่อออนไลน์ที่มีอิทธิพลทั้งด้านความคิด ความรู้สึก การแสดงพฤติกรรมรุนแรงและอื่นๆ การจัดกิจกรรมรณรงค์วัดใจ เติมพลัง สังคมมีสุขในครั้งนี้ จึงถือได้ว่าเกิดประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอย่างยิ่ง เป็นการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้ง่ายและได้รับการเติมเต็มพลังใจ
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดกิจกรรมในงาน เน้นสร้างความตระหนักและให้ประชาชนเข้าถึงการประเมินสุขภาพใจผ่าน www.วัดใจ.com หรือ MENTAL HEALTH CHECK IN และประเมินภาวะสมดุลกายใจด้วยเครื่อง Bio-Feedback พร้อมให้คำปรึกษาสุขภาพจิตเบื้องต้น นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ร่วมจัดกิจกรรม มีทั้งเรื่องปลอดโรค ปลอดภัย กายใจ เป็นสุข จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่, Teen Club คลับวัยทีนที่เดียวจบครบทุกเรื่อง โดยศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ , 3 ส.ป้องกันฆ่าตัวตาย จากสำนักงานสาธารณสุขเชียงใหม่ และการคัดกรองภาวะหลอดเลือดสมองจากโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนดูแลสุขภาพกายใจ รวมถึงการเดินรณรงค์เพื่อสร้างร้อยยิ้ม เติมพลังใจสร้างความสุขให้กับประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
กรมสุขภาพจิตขอให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการประเมินสุขภาพใจตนเองอย่างสม่ำเสมอ ผ่าน www.วัดใจ.com หรือ MENTAL HEALTH CHECK IN รวมถึงอยากให้ทุกภาคส่วนช่วยกันสร้างพลเมืองคุณภาพด้วยการร่วมวัดใจ เติมพลังและสร้างสังคมมีสุขไปด้วยกัน
ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: กิจกรรม, สังคม, สุขภาพ
คำค้น: กรมสุขภาพจิต, ฆ่าตัวตาย, วัดใจ, ศูนย์สุขภาพจิตที่ 1รณรงค์, สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์, สังคมมีสุข, สุขภาพจิตแห่งชาติ, เขตสุขภาพที่ 1, เติมพลัง, โรงพยาบาลสวนปรุง