ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ชูนโยบาย “ตลาดและนวัตกรรมนำอุตสาหกรรมไทย” ดันผู้ประกอบการ SMEs นำงานวิจัยมาต่อยอดสินค้าสร้างมูลค่าเพิ่ม หวังยกระดับผู้ประกอบการ Startup สร้างโอกาสทางการตลอด พร้อมสร้างช่องใหม่ของการดำเนินธุรกิจ ด้านสถาบันการศึกษาพาเหรดนำผลงานวิจัยให้ผู้ประกอบการต่อยอดเชิงพาณิชย์กว่า 30 ชิ้นงาน

วันที่ 13 กันยายน 2565 ณ โรงแรมเซ็นทารา ริเวอร์ไซด์ เชียงใหม่ นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน สัมมนาการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม (SMEs Research Connect) พร้อมร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรในสถาบันการศึกษาเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ (MOU) ระหว่าง สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ กับสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการนำผลงานวิจัยจากสถาบันการศึกษามาต่อยอดเชิงพาณิชย์สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์

ดร.กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นโยบาย Thailand 4.0 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและองค์ความรู้ ที่จะทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้ อย่างรวดเร็ว สอดรับตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ที่เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ แล้วนำไปปรับเปลี่ยนหรือนำไปพัฒนารูปแบบธุรกิจแบบเดิม ๆ ให้กลายเป็น Smart SMEs ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น

กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไว้ว่า “ตลาดและนวัตกรรมนำอุตสาหกรรมไทย” มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพตามแนวทาง “ผลิตได้” โดยผลักดันให้ผู้ประกอบการนำเอางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต และการบริหารจัดการสถานประกอบการ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการประกอบธุรกิจ “ขายได้” โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถนำผลิตภัณฑ์และบริการเชื่อมโยงสู่ตลาดที่มีศักยภาพทั้งในแบบ Offline และ Online “อยู่ด้วยกันได้” โดยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการยกระดับกระบวนการผลิตให้ได้คุณภาพ มีความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การที่จะขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย ให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรม จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการกระจายการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าสู่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในระดับภูมิภาคย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว จะช่วยขับเคลื่อนให้ไทยก้าวไปสู่เศรษฐกิจสังคมฐานความรู้ (Knowledge-based Society) และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกได้อย่างยั่งยืน ที่สำคัญยังสามารถยกระดับให้ผู้ประกอบการใหม่ หรือ Startup มีช่องทางในการก้าวไปสู่การเติบโตที่ดียิ่งขึ้น และยังทำให้เกิดมิติใหม่ของการดำเนินธุรกิจ Startup ในหลากหลายสาขา

“สถานการณ์โควิดกำลังจะผ่านพ้นไป การพลิกฟื้นธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งถือเป็นหน่วยธุรกิจหลักของประเทศให้กลับมาประกอบธุรกิจได้อย่างเข้มแข็ง ถือเป็นเป้าหมายร่วมของหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอีจะต้องมุ่งมั่นในการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาความร่วมมือแบบเชื่อมโยง เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกในการเข้ารับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ ไปอย่างทั่วถึงและครอบคลุม การจัดสัมมนาในวันนี้นับเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่ทุกภาคส่วนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสถาบันการศึกษา มาขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการต่อยอดจากสถาบันการเงินที่จะมาหนุนเสริมให้การประกอบธุรกิจในภูมิภาคได้รับการเพิ่มศักยภาพ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการพลิกฟื้นธุรกิจหลังยุคโควิดให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อ” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวในที่สุด

ด้านนายบุญอุ้ม วงศ์บุตร อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้จากการเชื่อมโยงงานวิจัย ทำให้การต่อยอดหรือสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (สอป.) ได้เล็งเห็นความสำคัญการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม (SMEs Research Connect) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ขึ้น เพื่อเป็นเวทีในการจุดประกายแนวคิดให้ผู้ประกอบการนำงานวิจัยไปต่อยอดธุรกิจในเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะผู้ประกอบการใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรม Wellness อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง พลังงาน บรรจุภัณฑ์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล

การจัดงานในครั้งนี้ จะเป็นแนวทางจุดประกายให้ผู้ประกอบการนำผลงานวิจัยมาใช้ต่อยอดในการขับเคลื่อนธุรกิจในเชิงพาณิชย์ รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้คิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับศักยภาพของธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และ Startup ไปจนถึงการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ของสถาบันการศึกษา ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดความยั่งยืน และในวันนี้มีงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ของสถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์จำนวนกว่า 30 ชิ้นงาน ผู้ประกอบการที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 0 5311 2316 ต่อ 402

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: กิจกรรม, สังคม
คำค้น: , , , , , , , , , , ,