โครงการส่งเสริมสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์พื้นถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 7-9 สิงหาคม 2565


องค์การบริหารส่วน
จังหวัดเชียงใหม่ กำหนดจัดโครงการส่งเสริมสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์พื้นถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตภูมิปัญญา ที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดเชียงใหม่ และพัฒนาไปสู่การเสริมสร้างมูลค่างานหัตถกรรมพื้นบ้าน ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และงานภูมิปัญญาต่างๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ของจังหวัดเชียงใหม่ให้ก้าวสู่ระดับสากลอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน อีกทั้งในการจัดงานครั้งนี้ยังช่วยส่งเสริม สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของท้องถิ่นและกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ให้ดียิ่งขึ้น

จังหวัดเชียงใหม่เป็นนครแห่งวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองและมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า727 ปี มีความเป็นเอกลักษณ์ ด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถ่ายทอดสู่งานหัตกรรมที่มีคุณค่า รวมทั้งมีความหลากหลายของชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมโดดเด่นและหลากหลาย มีทรัพยากรองค์ความรู้ทางภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น มีความเจริญรุ่งเรื่องทางศิลปวัฒนธรรมมาแต่ช้านาน จังหวัดเชียงใหม่ มีประชากรกว่า 1.7 ล้านคน ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด เป็นกลุ่มชนเผ่าชาติพันธุ์  มีประชาชนกลุ่มชนชาติพันธุ์หลากหลาย แยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มพื้นที่สูง คือ กะเหรี่ยง (ปกาเกอญอ) ม้ง (แม้ว)  ลาหู่ (มูเซอ) ลีซู (ลีซอ) อาข่า (อีก้อ) จีนฮ้อ ปะหล่อง (ดาาอั้ง) ลั๊วะ(ละว้า) เมี่ยน (เย้า) คะฉิ่น และกลุ่มพื้นราบ คือ ไทยวน (คนเมือง) ไทใหญ่ (ไตใหญ่) ไทเขิน  (ไตเขิน) ไทลื้อ (ไตลื้อ) ไทยอง (ไตยอง) ซึ่งมีประวัติความเป็นมา มีสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นแหล่งรวมชุมชนทางสังคมและวัฒนธรรม  ทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่อุดมไปด้วยทุนทางวัฒนธรรม  และเพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ในจังหวัดเชียงใหม่  เนื่องในวันที่ 9 สิงหาคม เป็นวันที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติประกาศให้เป็นวันชนเผ่าสากล (International Day of World’s Indigenous Peoples)  เพื่อเสริมสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับชนเผ่าหรือกลุ่มชาติพันธุ์และบทบาทของชุมชนชนเผ่าในการพัฒนา ซึ่งในประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ทั่วทุกภาคทั้งที่เป็นชาวเขาบนภูเขาในภาคเหนือ ชาติพันธุ์ในพื้นราบที่ยังคงเอกลักษณ์ทางภาษา การสืบทอดภูมิปัญญา วัฒนธรรมประเพณี ที่หลากหลาย และการมีส่วนร่วมที่สำคัญในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งนี้มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนกับสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทยมากกว่า 40 กลุ่ม  ประเทศไทยให้ความสำคัญกับวันนี้ ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ได้มีการรวมตัวกันของชนเผ่าพื้นเมืองจากทุกภูมิภาคเป็นครั้งแรก และจัดตั้งเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) ขึ้น พร้อมกับประกาศให้วันที่ 9 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และมีการจัดกิจกรรมวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย  ซึ่งจัดโดยเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองร่วมกับหน่วยงานภาคีองค์กรและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์และเฉลิมฉลองเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยขึ้นตลอดมา

อีกทั้งเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างมูลค่างานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดเชียงใหม่ และให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป  ให้สอดคล้องกับกิจกรรมเชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์ เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่ได้รับการประกาศให้เป็นสมาชิกเมืองหัตถศิลป์โลก WCC (World Craft City)  เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 และเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ทำให้เชียงใหม่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของนานาประเทศ เพื่อพัฒนางานส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและงานและงานหัตถกรรม ความเป็นเอกลักษณ์และภูมิปัญญา ภายใต้การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพิ่มมูลค่าด้านการท่องเที่ยว  ให้ชุมชนได้มีพื้นที่ในการจัดแสดงกิจกรรมทางภูมิปัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เช่น ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน วัฒนธรรมวิถีชีวิตพื้นบ้าน  การแสดงศิลปะพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์  เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคลังภูมิปัญญาองค์ความรู้เสริมสร้างคุณค่าท้องถิ่นส่งผลต่อการดำรงรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมให้คงอยู่  องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จึงร่วมกับเครือข่ายทางวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ จัดกิจกรรมตามโครงการสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์พื้นถิ่น จังหวัดเชียงใหม่ขึ้น

การจัดงานในครั้งนี้ให้ชื่อว่า เสน่ห์วัฒนธรรม ชาติพันธุ์เชียงใหม่ : Best of Chiang Mai Tribal” เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ในจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องในวันที่ 9 สิงหาคม เป็นวันที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติประกาศให้เป็นวันชนเผ่าสากล (International Day of World’s Indigenous Peoples) เพื่อเสริมสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับชนเผ่าหรือกลุ่มชาติพันธุ์และบทบาทของชนเผ่าในการพัฒนา และ แสดงคุณค่าเอกลักษณ์วัฒนธรรมของตนเองเป็น เสน่ห์ที่ไม่สามารถลอกเลียนได้

   

ภายในงานประกอบด้วยส่วนนิทรรศการ และ การจำหน่ายสินค้า  รวมทั้งการแสดง  โดยจะมีพิธีเปิดงานในวันที่ 7 สิงหาคม 2565 โดยพื้นที่งานจะแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น

1.) โซนนิทรรศการ ประกอบไปด้วย

นิทรรศการการแสดงผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์ โครงการในพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

นิทรรศการจำลองวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์

นิทรรศการบอร์ดข้อมูลวันชนเผาโลก

2.) บูขายสินค้าต่างๆ แบ่งออกเป็นหลายโซนดังนี้

ซุ้มแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์และสินค้าหัตถกรรมและอาหารของกลุ่มชาติพันธุ์

ซุ้มกาดชาติพันธุ์

บูขายอาหาร

บูขายสินค้า เสื้อผ้า เครื่องใช้

3.) กิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากกลุ่มชาติพันธุ์ (ชนเผ่า)

4.) และกิจกรรม Workshop งานหัตถกรรมกลุ่มชาติพันธุ์ของจังหวัดเชียงใหม่

ทั้งหมดภายในงานโครงการส่งเสริมสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์พื้นถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 7-9 สิงหาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ จัดโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: ท่องเที่ยว, วัฒนธรรม