สดร. เผยภาพซูเปอร์ฟูลมูนคืนอาสาฬหบูชา 13 ก.ค. 65 ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี

 

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยภาพดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปีคืนวันอาสาฬหบูชา 13 กรกฎาคม 2565 บันทึกจากหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา บรรยากาศชมซูเปอร์ฟูลมูนหลายภูมิภาคของไทยฟ้าปิดเป็นส่วนใหญ่ สำหรับ 4 จุดสังเกตการณ์หลักของ สดร. เชียงใหม่ นครราชสีมา และสงขลา มีเฮ เห็นดวงจันทร์เต็มดวงได้เป็นช่วงๆ ส่วนฉะเชิงเทรา ฟ้าปิดมีฝนตกตลอดคืน

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า บรรยากาศการชมซูเปอร์ฟูลมูนคืนวันอาสาฬหบูชา 13 กรกฎาคม 2565 ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ มีประชาชนเดินทางเข้าร่วมกว่า 700 คน ร่วมชมดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปีเคล้าเสียงดนตรีในสวน และแต่งกายธีมญี่ปุ่นถ่ายภาพคู่กับ “อภิมหาดวงจันทร์ยักษ์” เฉลิมฉลองดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก และเทศกาลทานาบาตะในเดือนกรกฎาคม ร่วมรับฟัง “เรื่องมหัศจรรย์ดวงจันทร์ของโลก” และเกมตอบคำถามเกี่ยวกับดวงจันทร์ สร้างความสนุกสนานให้กับผู้เข้ากิจกรรมเป็นอย่างยิ่ง แม้ในคืนนี้ดวงจันทร์จะโผล่พ้นเมฆปรากฎให้เห็นในช่วงสั้นๆ ในเวลาประมาณ 3 ทุ่ม ประชาชนก็ยังคงอยู่รอชมดวงจันทร์และร่วมกิจกรรมดาราศาสตร์จนจบงาน

 

นอกจากนี้ กิจกรรมชมซูเปอร์ฟูลมูน ณ จุดสังเกตการณ์หลักอื่นๆ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา และสงขลา ท้องฟ้ายังคงมีเมฆมาก แต่ดวงจันทร์เต็มดวงก็ยังโผล่พ้นเมฆมาให้ชมในช่วงสั้นๆ และยังสามารถเก็บภาพดวงจันทร์เต็มดวงในคืนใกล้โลกที่สุดในรอบปีมาฝากชาวไทยได้อีกด้วย ส่วนหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ฝนตกค่อนข้างหนัก ฟ้าปิด ไม่สามารถสังเกตการณ์ได้

ด้านโรงเรียนในเครือข่ายกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ 560 แห่งทั่วประเทศ ที่รับมอบกล้องโทรทรรศน์ และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ได้นำกล้องโทรทรรศน์มาจัดสังเกตการณ์ซูเปอร์ฟูลมูน เชิญชวนนักเรียนและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงร่วมชมดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปีอย่างคึกคัก แม้หลายพื้นที่ฟ้าฝนจะไม่เป็นใจ แต่ก็ยังสามารถจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ในช่วงกลางวัน กระตุ้นความสนใจในหมู่นักเรียนได้เป็นอย่างดี

“ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) ในปี 2565 นี้เกิดขึ้น ในช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 เวลา 01:39 น. ของวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 มีระยะห่างจากโลก 357,256 กิโลเมตร หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 7% และสว่างกว่าประมาณ 16%

แม้ว่าดวงจันทร์จะโคจรเข้าใกล้โลกทุกเดือน แต่อาจไม่ปรากฏเต็มดวงทุกครั้ง สำหรับ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในปีถัดไปจะตรงกับวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลปรากฎการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊กสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่ www.facebook.com/NARITpage

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: การศึกษา, กิจกรรม, ที่เที่ยว
คำค้น: , ,