คณะสถาปัตย์ ม.จุฬาลงกรณ์ ร่วมมือกับสมาคมวิศิษฏ์ล้านนาเพื่ออุตสาหกรรมไมซ์และการท่องเที่ยว ตัวแทนของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) จัดงานสัมมนา “Festival Economy in Chiang Mai : ออกแบบเทศกาลอย่างไรจึงจะพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเมืองอย่างยั่งยืน”

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมมือกับสมาคมวิศิษฏ์ล้านนาเพื่ออุตสาหกรรมไมซ์และการท่องเที่ยว (Visit Lanna for MICE and Tourism Industry in Northern Thailand) เป็นตัวแทนของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ในการจัดงานสัมมนา “Festival Economy in Chiang Mai : ออกแบบเทศกาลอย่างไรจึงจะพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเมืองอย่างยั่งยืน” ภายใต้โครงการกิจกรรมการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมไมซ์ในในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันต่อประโยชน์และกระบวนการออกแบบเทศกาลเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความร่วมมือสำหรับการพัฒนาต่อยอดเทศกาลที่สามารถดึงดูดกลุ่มเป้าหมายและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับท้องถิ่นในอนาคต

โดยการสัมมนาในครั้งนี้ ประกอบด้วยการนำเสนอสาระสำคัญของนโยบาย Festival Economy ที่ดำเนินการโดย สสปน. กระบวนการออกแบบเทศกาลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเมืองอย่างยั่งยืน รวมถึงตัวอย่างการออกแบบและพัฒนาเทศกาล Chiang Mai Blooms จากนั้นจะเป็นการประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคการศึกษา เพื่อหารือถึงแนวทางการพัฒนาและต่อยอดเทศกาลในจังหวัดเชียงใหม่ที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

ในงานนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.จุฑา ธาราไชย ผู้อำนวยการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคเหนือ กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดงาน และ นายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้เกียรติเป็นประธานในการกล่าวเปิดงาน ภายในงานยังได้มี ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง โดย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอข้อมูลเพื่อการหารือ 1 ในหัวข้อ “Festival economy : ทำอย่างไรเทศกาลจึงจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและเมืองอย่างยั่งยืน” และ การนำเสนอข้อมูลเพื่อการหารือ 2 “การเดินทางของ Chiang Mai Blooms” โดย คุณอนุรักษ์ อินชื่น ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมวิศิษฏ์ล้านนาเพื่ออุตสาหกรรมไมซ์และการท่องเที่ยว และนอกจากนี้ ยังได้มีกิจกรรม Work Shop เพื่อ ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมวางแผน (Co-creation) สำหรับการจะพัฒนาและต่อยอดเทศกาลของเชียงใหม่ โดยแบ่งเป็น กลุ่มพัฒนาเทศกาลใหม่ และกลุ่มต่อยอดเทศกาลเดิม ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้มีทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชนทั้งผู้ประกอบการโรงแรม ผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยว กงศุล สมาคมภาคเอกชนต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่ม Creative กลุ่มพัฒนาเมืองเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัย ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยจัดขึ้นเมื่อ วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ณ ห้องประชุมเวียงฟ้า โรงแรมรติล้านนา ริเวอร์ไซด์ สปา รีสอร์ท เชียงใหม่

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: กิจกรรม
คำค้น: , , , , , , ,