รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมคณะฯ ตรวจเยี่ยมโครงการแรงงานพันธุ์ดีฯ ที่ปางช้างแม่สา

นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา ให้การต้อนรับ นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมคณะฯ ในโอกาสเดินทางมาติดตามและเข้าชมแปลงผัก ตามโครงการกิจกรรมแรงงานพันธุ์ดี ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงตามที่ทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ได้ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการปางช้างแม่สา เข้าร่วมกิจกรรม “แรงงานพันธุ์ดี ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นายจ้างจัดสวัสดิการนอกเหนือกฎหมายให้แก่ลูกจ้าง โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ได้แก่ ที่ดิน หรือที่ว่างเปล่าบริเวณสถานประกอบกิจการ ให้ลูกจ้างดำเนินการเพาะปลูกพืขสวนครัว พืชผลทางการเกษตร หรือเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้ลูกจ้างนำผลผลิตมาบริโภค ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการครองชีพ และสามารถนำผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคไปจำหน่ายในชุมชน เป็นการเพิ่มรายได้ พัฒนาเป็นอาชีพใหม่ อันเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจพอเพียง

ซึ่งทางควาญช้างและพนักงานของปางช้างแม่สา เชียงใหม่ ได้ร่วมดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ โดยได้ร่วมกันปลูกผักเป็นคลังครัวส่วนกลาง เพื่อนำมาปรุงอาหาร เลี้ยงพนักงานในปางช้างกว่า 100 คน ซึ่งสามารถทำให้ลดค่าใช้จ่าย ในการจัดซื้อพืชผักได้มากเกือบเดือนละ 2 หมื่นบาท โดยร่วมกันปลูกพืชผักสวนครัว ในพื้นที่ว่างของปางช้างและบ้านพักคนงาน ทั้งผักบุ้ง ผักสลัด โหระพา มะเขือ ผักกาด ผักคื่นช่าย และใช้ปุ๋ยมูลช้างมาบำรุงให้กับพืชผัก ทำให้เป็นพืชผักปลอดสารพิษ และพืชผักออกผลผลิตมีขนาดใหญ่ และสมบูรณ์ โดยใช้เวลาปลูกประมาณ 45 วัน ก็สามารถเก็บมาปรุงอาหารเป็นเมนูต่างๆ ได้ สามารถเลี้ยงครอบครัวและพี่น้องควาญช้าง พนักงานในปางช้างได้

นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา เผยว่า ปางช้างแม่สาได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานซึ่งโครงการนี้มีสถานประกอบการ เข้าร่วมมากเกือบ 100 แห่ง ทั่วประเทศ ในส่วนของปางช้างแม่สา ได้เข้าร่วมโครงการนี้ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย ค่าปรุงอาหารส่วนกลางวันละ 600 บาท หรือประมาณเดือนละ 18,000 บาท สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้

นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า โครงการนี้เริ่มมาได้ประมาณ 1 ปี โดยมีสถานประกอบการทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการมากถึง 99 แห่ง ซึ่งในปีนี้ได้ตั้งเป้าไว้ 300 แห่ง ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้ปลูกผัก เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายลูกจ้าง ถ้าสถานประกอบการบางแห่งปลูกผักแล้วเหลือ ก็สามารถแบ่งปันชุมชน หรือต่อยอดนำไปขาย ซึ่งทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะได้ขยายโครงการไปเรื่อยๆ โดยได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ จากภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นโครงการดี ในยุคของสถานการณ์โควิด19 นี้.

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: การเกษตร, กิจกรรม, นโยบายการเมือง, สังคม, เศรษฐกิจ