ปางช้างแม่สาจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมูลช้าง เพื่อสร้างเสริมรายได้นำไปเลี้ยงช้างจำนวน 70 เชือก

นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวในวันหยุด ว่าปางช้างมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางมาเที่ยวที่ปางช้างเฉลี่ยวันละ 300-500 คน ส่วนในวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือช่วงลองวีคเอนด์ มีคนแวะมาชมช้างแสนรู้มากถึงวันละ 600-800 คน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปางช้างแม่สาตั้งอยู่บนเส้นทางท่องเที่ยวอำเภอแม่ริม-สะเมิง ซึ่งมีจุดท่องเที่ยวยอดนิยม เช่น สวนสตรอเบอรี่ สวนดอกไม้ สวนพฤกษศาสตร์ คุ้มเสือ และม่อนแจ่ม รวมถึงร้านกาแฟน่ารักๆอีกหลายแห่ง
และที่สำคัญ ตั้งแต่รัฐบาลมีมาตรการแบบ New Normal จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ปางช้างแม่สาได้งดการแสดงช้าง งดการนั่งช้างทุกชนิด แต่หันมาเปิดปางช้างให้ประชาชนได้เข้าชมช้างฟรี โดยไม่มีค่าบัตรผ่านประตู ส่วนกิจกรรมก็มีเพียงการซื้อตะกร้าผลไม้ป้อนช้างในราคาตะกร้าละ 100 บาท นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีความสุขกับการได้มาเที่ยวเช็คอิน ชมช้าง พร้อมถ่ายรูปกับช้างเท่านั้น


นอกจากปางช้างจะมีรายได้จากการขายอาหารป้อนช้าง ขายขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มให้นักท่องเที่ยวแล้ว ปางช้างแม่สายังได้หาวิธีจำหน่ายมูลช้าง และสารปรับปรุงบำรุงดิน และยังพยายามพัฒนากระดาษมูลช้างให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นอีกด้วย
จากการที่ปางช้างต้องซื้อหญ้าชนิดต่างๆที่ช้างต้องกินมาเป็นอาหารช้าง ด้วยปริมาณสูงถึงวันละ 10 ตัน หรือ 10,000 กิโลกรัม เลยทำให้ปางช้างสามารถจัดเก็บมูลช้างหรือขี้ช้างได้เป็นจำนวนมาก ถึงวันละ 6-7 ตัน เกินครึ่งหนึ่งของอาหารช้างที่กินเข้าไป มูลช้างเหล่านั้น กลายมาเป็นขยะที่ปางช้างแม่สาต้องจัดเก็บแล้วทำลาย แต่ปางช้างกลับนำมูลช้างมาปรับเปลี่ยนสภาพ เพื่อให้เป็นประโยชน์ หรือเรียกว่าการ Reuse/Recycle ด้วยการแบ่งมูลช้างส่วนหนึ่งเข้าโรงปุ๋ย เติมจุลินทรีย์ เติมออกซิเจนในมูลช้าง รอเวลาให้ย่อยสลาย กลายเป็นดินดี ใช้บำรุงพืช หรือสามารถนำไปผสมเป็นดินปลูก มูลช้างอีกส่วนจะถูกนำเข้าโรงงานผลิตกระดาษมูลช้าง ผ่านกระบวนการทำความสะอาด นำไปต้ม นำไปปั่นกับเยื่อสา ช้อนขึ้นด้วยตระแกรงสี่เหลี่ยม แล้วตากให้แห้งด้วยแดดตามธรรมชาติ เมื่อแกะออกมาเป็นแผ่นกระดาษ ก็สามารถนำไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่นถุงใส่ของ การ์ด และพวงหรีด ของพวกนี้เมื่อใช้แล้วทิ้ง ก็ย่อยสลายได้ง่าย ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งลูกค้าของปางช้างแม่สาเป็นเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ และปลูกต้นกาแฟ ส่วนกระดาษมูลช้างได้จำหน่ายให้กับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงการทำดี หรือ Do Good


“เราสามารถมีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมูลช้างได้เป็นหลักแสน มากพอที่จะนำมาใช้ซื้ออาหารให้ช้างกิน ทุกวันนี้เราจะอาศัยแต่การท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้ ต้องลองคิดลองทำหลายๆอย่าง ที่สำคัญเรื่องการลดขยะ ก็เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และทำให้ลูกค้าสนใจในสินค้าจากมูลช้างของเราไปด้วย” นางอัญชลีกล่าวในที่สุด

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: การตลาด, การเกษตร, ท่องเที่ยว, สิ่งแวดล้อม, เศรษฐกิจ