เชียงใหม่ ชี้แจงแนวทาง Home Isolation สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ชี้แจงแนวทางการแยกกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ โดยอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล

นายแพทย์นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ชี้แจงแนวทางการแยกกักตัวที่บ้านสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ หรือ Home Isolation ของจังหวัดเชียงใหม่ ในการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ว่า ห้องประชุม 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ การทำ Home Isolation เป็นการลดความแออัดในโรงพยาบาลต่างๆ โดยผู้ติดเชื้อที่สามารถเข้าสู่ระบบ Home Isolation ได้นั้นจะต้องตรงตามเงื่อนไข 7 อย่าง ประกอบด้วย 1.เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยมีผลตรวจ RT-PCR หรือ ATK เป็นบวก  2. เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหายใจหอบเหนื่อย แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ  3. มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ไม่อยู่ในกลุ่ม 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง รวมทั้งไม่มีภาวะอ้วน 4. มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 5. พักอาศัยอยู่คนเดียวหรือที่พักอาศัยมีห้องสามารถแยกอยู่คนเดียวได้  6. สามารถสื่อสารและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และทีมผู้ให้การดูแลรักษาได้ 7. สามารถใช้อุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณชีพหรืออุปกรณ์ตรวจวัดค่าออกซิเจนในเลือดได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ สำหรับผู้ติดเชื้อที่พักอาศัยอยู่ในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่จะอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และผู้ติดเชื้อนอกพื้นที่จะอยู่ในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลประจำอำเภอ

ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ทำการแยกกักตัวที่อยู่ในการดูแลของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จะต้องทำการแอดไลน์กับทางโรงพยาบาล เพื่อรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวระหว่างการกักตัว และติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ในการติดตามอาการและให้ความช่วยเหลือต่างๆ อย่างใกล้ชิด  อาทิ การวัดอุณหภูมิ และระดับออกซิเจนพร้อมส่งข้อมูลทางไลน์  และหากพบผู้ติดเชื้อมีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าร้อยละ 96 หรือมีอาการหนักขึ้น จะต้องมีการนำส่งมาตรวจเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลหรือเข้าสู่ระบบการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลต่อไป  ซึ่งทางโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จะมีทีมในการจัดส่งยา ส่งอาหารให้วันละ 3 มื้อ โดยทาง สปสช. เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: นโยบายการเมือง, สังคม, สุขภาพ