หอการค้า จ.เชียงใหม่ แถลงภาวะเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ครึ่งแรกปี 2564 และแนวโน้มภาวะในครึ่งปีหลัง

นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยรองประธานและกรรมการ จัดแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ไตรมาสที่ 1-2 ประจำปี 2564 และแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ไตรมาสที่ 3-4 ประจำปี 2564” ห้องประชุม 1 ชั้น 2 สำนักงานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายสมศักดิ์ วงศ์บัญชาถาวร ที่ปรึกษาคณะกรรมการหอการค้าฯ ภาคเอกชน ร่วมรับฟัง ท่ามกลางสื่อมวลชนเข้าร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้

การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงทั่วโลกต้นปี 2563  ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่หดตัวรุนแรงและสูญเสียรายได้ ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องหดตัวสูง ทั้งการบริโภคและการลงทุน ธุรกิจจำนวนมากปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงาน  ภาวะเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 หดตัวใกล้เคียงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน จากการแพร่ระบาดของโควิดระลอกที่สอง ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวหดตัวมาก  การใช้จ่ายปรับตัวดีขึ้นในกลุ่มสินค้าจำเป็น  ในไตรมาสที่สองเศรษฐกิจเชียงใหม่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิดรอบสาม และการดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศ ส่งผลให้ภาคท่องเที่ยวและการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวมากขึ้น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ด้านการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวสูงจากการเร่งเบิกจ่าย ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม     

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้

ภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ไตรมาส 1 ปี 2564 หดตัวมากขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า จากการแพร่ระบาดระลอกสอง ประกอบกับสถานการณ์หมอกควัน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวและอัตราการเข้าพักลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังคงหดตัวสูง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ เข้าสู่ไตรมาส 2 ภาคการท่องเที่ยวหดตัวมากขึ้น จากการระบาดของโควิดระลอกสาม ที่กระจายวงกว้างและรุนแรงมาก และจากมาตรการควบคุมการระบาดของจังหวัดต่าง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวในประเทศชะลอการเดินทาง โดยภาพรวมช่วงครึ่งปีแรก 2564 ภาคการท่องเที่ยวหดตัวรุนแรง สูญเสียรายได้ต่อเนื่องเกือบ 2 ปี ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดกิจการ  แรงงานภาคท่องเที่ยวไม่มีรายได้

ภาคอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ไตรมาสแรกของปี หดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อน จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้การใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันปรับดีขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าจำเป็น ในขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนกำลังซื้อที่เปราะบาง เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 2 การอุปโภคบริโภคหดตัวเพิ่มขึ้น จากการระบาดของ COVID-19 ระลอกสาม  ทำให้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าในชีวิตประจำวันและหมวดบริการหดตัว ด้านการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนชะลอกำลังซื้อโดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถบรรทุกเชิงพาณิชย์ ขณะที่กลุ่มรถจักรยานยนต์ยังขยายตัวได้ตามความต้องการซื้อของลูกค้ากลุ่มเกษตร โดยภาพรวมครึ่งปี 2564 การใช้จ่ายกระเตื้องเล็กน้อยในช่วงต้นปี และชะลอลงเมื่อพบการระบาดระลอกที่สาม

ภาคการลงทุนภาคเอกชน  ชะลอลงต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาทั้งสองไตรมาส การลงทุนเพื่อการก่อสร้างชะลอตัว ตามภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ชะลอลงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอ ทำให้ผู้ประกอบการเลื่อนแผนการลงทุนออกไป การลงทุนเพื่อการผลิตขยายตัวเล็กน้อย จากการลงทุนในกลุ่มธุรกิจขนส่ง ทั้งสินค้า        E-Commerce และสินค้าเกษตร โดยยังมีความต้องการซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์ สะท้อนจากยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัว รวมทั้งมีการลงทุนนำเข้าเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและรองรับคำสั่งซื้อในอนาคต เฉพาะธุรกิจรายใหญ่บางรายเท่านั้น โดยภาพรวมช่วงครึ่งปีแรกของปีการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงมาก 

ไตรมาสแรก (.. – มี.) การใช้จ่ายของภาครัฐลดลงจากไตรมาสก่อน รายจ่ายประจำหดตัวโดยลดลงมากในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปของสถาบันการศึกษา และหมวดรายจ่ายอื่นของงบกลาง ส่วนทางด้านรายจ่ายลงทุนขยายตัวสูงต่อเนื่อง จากการเร่งเบิกจ่ายของ หน่วยงานต่าง โดยเฉพาะในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในไตรมาส 2 การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวสูงจากไตรมาสก่อน จากการเร่งรัดการเบิกจ่าย โดยรายจ่ายประจำขยายตัว ส่วนรายจ่ายลงทุนก็ขยายตัวสูงตามการใช้จ่ายในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างด้านโครงสร้างพื้นฐาน และหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน   

รายได้ภาคเกษตร ในครึ่งแรกปี 2564 โดยรวมลดลงเล็กน้อย เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสุกรลดลงจากโรคระบาด  ราคาสุกรเพิ่มสูงตามความต้องการจากตลาดภายในและต่างประเทศ ส่วนราคาข้าวโพดสูงขึ้นเล็กน้อย  ราคาที่สูงยังไม่สามารถชดเชยรายได้ที่เสียไปจากผลผลิตที่ลดลงมาก สำหรับผลผลิตพืชสำคัญชนิดอื่น เช่น ข้าว ลำไยนอกฤดู มะม่วง เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยและราคาอยู่ในเกณฑ์ดี

การผลิตภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัว เครื่องชี้สำคัญ เช่น การใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 3.7 แต่ปรับตัวดีขึ้นช่วงไตรมาสสอง  ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3  อุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออกฟื้นตัวตามเศรษฐกิจต่างประเทศ  แต่ประสบปัญหาขาดตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้การขนส่งล่าช้า และต้นทุนการขนส่งสูงขึ้นมาก การผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศโดยรวมหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจ  สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์จากโคนมและหมวดอาหารแปรรูปฟื้นตัวดี และช่วงปลายไตรมาสสอง โรงงานแปรรูปผลิตผลเกษตร คอนกรีตผสมเสร็จเริ่มต้นผลิต

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นจากช่วงก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ตามราคาพลังงานจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น อัตราการว่างงานสูงขึ้นเป็นเฉลี่ยร้อยละ 2.9 ในไตรมาสที่สอง  เทียบกับอัตราว่างงานร้อยละ 1.6 ช่วงก่อนโควิดไตรมาสที่ 4 ปี 2562  ธุรกิจปรับตัว เช่น การลดชั่วโมงการทำงาน  ให้พนักงานหยุดงานโดย   ไม่รับค่าจ้าง  รวมทั้งเปลี่ยนเงื่อนไขการจ้างจากรายเดือนเป็นรายวัน และเลิกจ้างแรงงานประเภทสัญญาชั่วคราว 

ภาคการเงิน สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ยอดเงินฝากคงค้างของสาขาธนาคารพาณิชย์ลดลงจากช่วงก่อนหน้า เนื่องจากย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น จากที่โอนย้ายมาฝากกับธนาคารพาณิชย์ช่วงเกิดโควิดระลอกแรก ด้านสินเชื่อคงค้างยังคงขยายตัวต่อเนื่องในสินเชื่อประเภทค้าส่งค้าปลีก บริการและอุปโภคบริโภค ขณะที่สินเชื่อที่ให้กับสถาบันการเงินประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมลดลง

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: การค้า - การลงทุน, การตลาด, การเกษตร, สังคม, หุ้น - การเงิน, อสังหาริมทรัพย์, เศรษฐกิจ, ไอที - ยานยนต