สว.ประชุมติดตามการดำเนินงานในวาระสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่

นายปรีชา บัววิรัตน์เลิศ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) พร้อมด้วยนายจิรชัย มูลทองโร่ย และผู้ช่วยศาสตราจารย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประชุมติดตามหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงประเด็นสำคัญต่างๆ ได้แก่แผนพัฒนาจังหวัดที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 หมอกควันและไฟป่า แผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและการบูรณาการกับหน่วยงานอื่นในหน่วยงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งแนวทางการบูรณาการและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนของท้องถิ่น โดยมีนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมและรายงานผล ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่

นายปรีชา บัวริรัตน์เลิศ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการฯ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อมารับฟังข้อมูลและความคิดเห็น รวมถึงปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานจากพื้นที่ ซึ่งจะได้นำไปสู่การแก้ไขโดยอาศัยกลไกของวุฒิสภา พร้อมเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนบูรณาการการทำงานกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้การพัฒนาของจังหวัดเป็นไปในทิศทางที่ดีและสัมฤทธิ์ผล ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (2 เม.. 64) คณะจะได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการบริหารเชื้อเพลิงแบบบูรณการในพื้นที่ป่าและรับฟังแผนการทำฝายชะลอน้ำฯ อุทยานแห่งชาติศรีลานนา อำเภอพร้าว ก่อนที่จะประชุมเพื่อรับฟังการบริหารจัดการน้ำ กระบวนการบริหารจัดการนำ และแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โครงการชลประทานเชียงใหม่ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ได้วางแผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ปี 2565 ไว้ 6 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มมูลค่าเชื่อมโยงธรรมชาติ วัฒนธรรม สุขภาพ และเศรษฐกิจท้องถิ่น, การขับเคลื่อนเกษตรแปรรูปมูลค่าสูงและพัฒนานวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต ภายใต้ BCG Model, การผลักดันเชียงใหม่สู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ เมืองแห่งไมซ์ เมืองแห่งนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ เพื่อให้สามารถรองรับการเป็นศูนย์กลางทางการค้า การลงทุน ของภาคเหนือ, การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ ภูมิปัญญา และอัตลักษณ์ล้านนา, การจัดการปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และประเด็นสุดท้ายคือ การจัดการสาธารณภัย การสร้างความมั่นคงและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ขณะที่การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 หมอกควัน และไฟป่า จังหวัดเชียงใหม่ ห้วงวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม 2564 พบจุดความร้อนทั้งสิ้น 7,036 จุด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับห้วงวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 พฤษภาคม 2564 ที่พบจุดความร้อน 21,658 จุด พบว่าจุดความร้อนสะสมของจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2564 ลดลงจากปี 2563 ถึง 32.49%

ส่วนการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 ที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการตรวจสอบกำกับ ดูแล ให้คำแนะนำ ในกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมจัดเตรียมสถานที่กักกันตัวประเภท Local Quarantine (LQ) ในพื้นที่อำเภอชายแดนจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหง อำเภอแม่อาย อำเภอฝาง และอำเภอไชยปราการ นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และระบบ Application ฐานข้อมูลผู้ใช้แรงงานที่อาศัยในที่พักคนงานชั่วคราว (แคมป์) ของพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตามมาตรการป้องกันวิกฤตการณ์จากโควิด-19 ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ยังไม่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในที่พักคนงานชั่วคราว (แคมป์) แต่อย่างใด

สำหรับโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ  (ตอนบน) มีพื้นที่การดำเนินงาน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยมีเป้าหมาย เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ กลุ่มการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคเอกชน และสื่อมวลชน รวมทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่  ใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และช่วยกันขับเคลื่อนประเทศตั้งแต่ระดับฐานราก ชุมชน สังคม และระดับประเทศ ให้พัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างสอดคล้องกันและเป็นระบบ เพื่อให้เกิดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและสังคมโดยรวม นำไปสู่สังคมที่ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสังคมที่มีความสงบสุข ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดอง และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกด้าน  บนพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: นโยบายการเมือง
คำค้น: ,