STeP นำทัพตัวแทนนักศึกษา มช. คว้ารองชนะเลิศอันดับ 1 การแข่งขัน “Research to Market เส้นทางสู่นวัตวณิชย์ รอบระดับประเทศ ครั้งที่ 8”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกษมศักดิ์ อุทัยชนะ รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริยะ ทองมุณี ผู้ช่วยผู้อำนวยการอุทยานฯ นำทัพนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตัวแทนระดับภูมิภาค (ภาคเหนือ) นำเสนอแผนธุรกิจของผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี นวัตกรรมจากผลงานวิจัยรั้วมหาวิทยาลัยในเวทีการแข่งขัน “Research to Market Thailand 2020 : R2M 2020” เส้นทางสู่นวัตวณิชย์ รอบระดับประเทศ ครั้งที่ 8 อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการแข่งขัน พร้อมปรับเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันในแบบ New Normal ผ่านระบบออนไลน์ Live Streaming ลดการพบปะรวมตัวของ คนกลุ่มมากเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

ทั้งนี้ ทีม CMUGency จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถคว้ารางวัลรอชนะเลิศอันดับ 1 มาได้ด้วยการนำเสนอเครื่องวัดสัญญาณชีพพื้นฐานในรถฉุกเฉิน สำหรับประเมินอาการผู้ป่วยระหว่างนำส่งบนรถฉุกเฉิน สามารถวัด 4 ค่าสัญญาณชีพไว้ในเครื่องเดียว (การวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ค่าอัตราการเต้นของหัวใจ ค่าความดันโลหิต และค่าออกซิเจนในเลือด)  ซึ่งนับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่สามารถชิงชัยเป็นหนึ่งในทีมผู้รับรางวัลจากเวทีระดับประเทศ

สำหรับผลการแข่งขันรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม GSAL จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นำเสนอไบโอเซ็นเซอร์ที่อาศัยเทคนิคการกระเจิงแสงแบบรามาน (Raman scattering) สำหรับตรวจวัดเชื้อซาลโมเนลลา รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เป็นของทีม Pre-ionics จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำเสนอนวัตกรรมธาตุอาหารพืชอินทรีย์บริสุทธิ์จากอินทรียวัตถุต่างๆ โดยทีม Pro-assist จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และทีมคุณประหยัด จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับรางวัลชมเชยตามลำดับ

สำหรับโครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 8 โดยอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะแม่ข่ายดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งนี้ ผ่านการสนับสนุนจากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเฟ้นหาทีมสุดยอดตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในระดับภูมิภาคจาก 22 ทีม 16 มหาวิทยาลัยเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์ พร้อมนำองค์ความรู้มาพัฒนาและปรับใช้สู่สังคมไทยผ่านคนรุ่นใหม่ โดยอุทยานฯ พร้อมให้คำปรึกษาและผลักดันกลุ่มนักศึกษาเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียและศักยภาพสู่การเป็นนักธุรกิจ Startup จากรั้วมหาวิทยาลัย ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและผลงานวิจัยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจไทยให้ดียิ่งขึ้น

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: การศึกษา, กิจกรรม, สังคม
คำค้น: , , , , , , ,