พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง พร้อมด้วยนายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี รองประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เป็นประธานในพิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ สถานีเรดาร์ฝนหลวงอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสครบ 29 ปี การเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสถานีเรดาร์ฝนหลวงอมก๋อย เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พุทธศักราช 2535 พร้อมมอบถังเก็บน้ำให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 12 โรงเรียน เพื่อใช้สำหรับเก็บกักน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค
จากนั้น ได้ชมนิทรรศการที่ประทับทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครั้นเสด็จที่สถานีเรดาร์ อมก๋อย และปลูกต้นแมคคาเดเมีย โดยใช้เมล็ดพันธุ์จากต้นแมคคาเดเมีย ที่ทั้งสองพระองค์ได้ทรงปลูกไว้ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2535 และทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธย ไว้เป็นที่ระลึกในครั้งนั้น
สถานีเรดาร์ฝนหลวงอมก๋อย เป็นสถานีเรดาร์แบบประจำที่ ชนิด S Band ความถี่ 2.8 GHz เป็นสถานีเรดาร์ฝนหลวงแห่งแรก ที่นำเทคโนโลยีเรดาร์มาประยุกต์ใช้ในการเสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง โดยใช้สำรวจข้อมูลอุตุนิยมวิทยาในเขตพื้นที่ภาคเหนือฝั่งตะวันตก ตรวจวัดการเกิดกลุ่มฝน/กลุ่มเมฆ การติดตามการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาตัวของเมฆ เพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ ต่อไปให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการวางแผนก่อนการปฏิบัติการฝนหลวง รวมถึงติดตามประเมินผล การยับยั้งลูกเห็บและการเตือนภัยให้อากาศยานขณะปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้สานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงพระราชดำริไว้ให้เน้นการร่วมมือประสานงาน การทำงานกันอย่างใกล้ชิด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายให้ประสบผลสำเร็จ
ปัจจุบันกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีสถานีเรดาร์แบบประจำที่ จำนวน 5 สถานี ได้แก่ สถานีเรดาร์ฝนหลวงอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ สถานีเรดาร์ฝนหลวงตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ สถานีเรดาร์ฝนหลวงพิมาย จังหวัดนครราชสีมา สถานีเรดาร์ฝนหลวงสัตหีบ จังหวัดชลบุรี สถานีเรดาร์ฝนหลวงพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสถานีเรดาร์ฝนหลวงแบบเคลื่อนที่ จำนวน 5 สถานี ได้แก่ สถานีเรดาร์ร้องกวาง จังหวัดแพร่ สถานีเรดาร์ฝนหลวงบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี สถานีเรดาร์ฝนหลวงราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ สถานีเรดาร์ปะทิว จังหวัดชุมพร และสถานีเรดาร์ฝนหลวงสิงหนคร จังหวัดสงขลา ที่จะช่วยสนับสนุนภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวงทั่วทุกภูมิภาค ทั้งนี้ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งของพี่น้องเกษตรกรและประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด และสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรในเรื่องภัยแล้งอีกด้วย
ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: สังคม, สิ่งแวดล้อม
คำค้น: กรมฝนหลวง, ฝนหลวง, สถานีเรดาร์ฝนหลวง, สถานีเรดาร์ฝนหลวงอมก๋อย