สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชวนจับตา 2 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญส่งท้ายปี “ฝนดาวตกเจมินิดส์” คืน 13 ถึงรุ่งเช้า 14 ธ.ค. 63 คาดมีอัตราการตกเฉลี่ยมากถึง 150 ดวงต่อชม. ปีนี้โอกาสดี ไม่มีดวงจันทร์รบกวน แนะชมในที่มืดสนิท และ “ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์ใกล้ที่สุดในรอบ 397 ปี” 20 – 23 ธ.ค. 63 ปรากฏใกล้กันมากเสมือนเป็นดวงเดียว สังเกตด้วยตาเปล่าได้ทุกภูมิภาคทั่วไทย
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เผยว่า เดือนธันวาคม 2563 นี้ มีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญที่น่าติดตาม 2 ปรากฏการณ์ด้วยกัน ปรากฏการณ์แรก ได้แก่ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ สังเกตได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ เวลาประมาณ 20:30 น. ของวันที่ 13 ธันวาคม จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดูได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ ในปีนี้คาดว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดถึง 150 ดวงต่อชั่วโมง และไม่มีแสงจันทร์รบกวน เหมาะแก่การสังเกตการณ์เป็นอย่างยิ่ง
อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าติดตามอย่างยิ่ง คือ ปรากฏการณ์ “ดาวพฤหัสบดี” เคียง “ดาวเสาร์” ใกล้ที่สุดในรอบ 397 ปี หรือเรียกว่า ปรากฏการณ์ “The Great Conjunction 2020” จะเกิดในช่วงวันที่ 20 – 23 ธันวาคม 2563 ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์จะปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้าห่างเพียง 0.1 องศาเท่านั้น หากมองด้วยตาเปล่าจะเห็นเสมือนเป็นจุดสว่างเพียงจุดเดียว และหากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 200 เท่า จะเห็นดาวเคราะห์ทั้งสองอยู่ในช่องมองภาพเดียวกัน สังเกตได้ในช่วงค่ำ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนูและกลุ่มดาวเเพะทะเล ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในทุก 20 ปี แต่ครั้งนี้นับว่าเข้าใกล้ที่สุดในรอบกว่า 397 ปี หากพลาดโอกาสชมปรากฏการณ์ครั้งนี้ ต้องรออีก 60 ปีข้างหน้า ดาวเคราะห์ทั้งสองจึงจะเข้ามาใกล้กันในระยะห่าง 0.1 องศาแบบนี้อีกครั้ง