คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “มาเรียนมารู้กฎหมาย กัญชา กัญชง และกระท่อม” เพื่อให้ประชาชนได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกฎหมายกัญชา กัญชง และใบกระท่อม โดยมี ดร. ชนิญญา ชัยสุวรรณ อัยการอาวุโส และ ดร.อภิวิชญ์ วรรณะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ เป็นวิทยากรร่วมเสวนา ณ ห้องลีลาวดี ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่
การเสวนาในครั้งนี้เป็นการเผยแพร่ความรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจในการกำหนดหลักเกณฑ์ หรือมาตรฐานเกี่ยวกับการนำเมล็ดกัญชง น้ำมัน หรือสารสกัดจากกัญชง หรือกัญชา ไปใช้เป็นส่วนผสมในยา หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหาร และเครื่องสำอาง และการนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการรักษา ที่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ รวมทั้งยังได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และซักถามข้อสงสัยในด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้บริโภค
กัญชา เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เช่นเดียวกับพืชกระท่อม พืชฝิ่น ในกัญชามีสารเสพติด ชื่อเตตราไฮโดรแคนนาบินอล หรือ THC มีฤทธิ์ต่อสมอง ควบคุมความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมของผู้เสพ ทำให้มีอาการคล้ายเมาเหล้า เมื่อเสพปริมาณมากขึ้น ทำให้ความคิดอ่านช้า สับสนและประสาทหลอน โดยกัญชา สามารถขออนุญาตผลิต (ปลูก) นำเข้า–ส่งออก จำหน่าย ครอบครอง เพื่อการพัฒนาและวิจัยองค์ความรู้ได้ โดยขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ประกอบกับ กฎกระทรวงการขออนุญาตฯ ยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 และในประเภท 5 พ.ศ.2559
กัญชง (เฮมพ์) เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เช่นเดียวกับกัญชา พืชกระท่อม พืชฝิ่น เพราะมีสารเสพติด ชื่อเตตราไฮโดรแคนนาบินอล หรือ THC ออกฤทธิ์ต่อสมอง อย่างไรก็ตาม สำหรับกัญชง ที่มีสาร THC ไม่เกิน 1% สามารถขออนุญาตจำหน่าย ผลิต (ปลูก) ครอบครอง โดยขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ประกอบกับกฎกระทรวงการขออนุญาตฯ เฉพาะเฮมพ์ พ.ศ.2559
ส่วนพืชกระท่อม เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เช่นเดียวกับกัญชา พืชฝิ่น ในพืชกระท่อมมีสารเสพติดชื่อ ไมทราไจนีน มีฤทธิ์กดประสาท สามารถขออนุญาตเพื่อนำเข้า ส่งออก จำหน่าย ผลิต(ปลูก) ครอบครอง โดยขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ประกอบกับกฎกระทรวงการขออนุญาตฯ ยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 และในประเภท 5 พ.ศ.2559 เพื่อการศึกษาวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ แต่การเสพถือว่าผิดกฎหมาย ห้ามโดยเด็ดขาด
ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: การศึกษา, กิจกรรม, สังคม, สุขภาพ
คำค้น: THC, กัญชา กัญชง และกระท่อม, คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา, เตตราไฮโดรแคนนาบินอล, เสวนาวิชาการ