รมว.อว. ยกทัพ 7 Startup ผลผลิตอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ พบนายกรัฐมนตรี นำเสนอนวัตกรรมเด่น สร้างการรับรู้ ขยายโอกาสทางธุรกิจ ยกระดับประเทศไทย

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวง อว. นำเสนอผลงานที่ประสบความสำเร็จในการบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Technology Business Incubation: TBI) จาก 7 มหาวิทยาลัยเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ แก่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล

ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (startup) ทั้ง 7 ราย ประกอบด้วย

1) ผู้ประกอบการจากวิสาหกิจเริ่มต้นที่เติบโตจากนักศึกษา (University Startup) ได้แก่

  • ผู้ประกอบการที่จัดทำระบบการจัดการขยะรีไซเคิล หรือที่รู้จักในนาม Recute โดยอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • นวัตกรรมพลาสติกชีวภาพเพื่อสิ่งแวดล้อมจากกากกาแฟที่สามารถย่อยสลายได้ 100% (NU Bio Bags) โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือตอนล่าง มหาวิทยาลัยนเรศวร

2) ผู้ประกอบการและ Startup ที่ได้รับการเร่งศักยภาพยกระดับผ่านงานวิจัยหรือใช้บริการแพลตฟอร์มและโครงการต่าง ๆ ของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ

  • บริษัท ทิวา อินโนเวท จำกัด ผู้ประกอบการที่พัฒนาเทคโนโลยีการปลูกผักพร้อมทานในบรรจุภัณฑ์ โดยได้รับการสนับสนุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่โจ้

3) ผู้ประกอบการนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบเชิงสังคม

  • บริษัท ไทรส์ อีทีซี จำกัด ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อลงทุน ผลิต แปรรูป ยกระดับและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ กาแฟ ชา ซึ่งเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยพลังชุมชน
  • ห้างหุ้นส่วนจำกัด ปลาส้มไร้ก้างแม่ทองปอน ร่วมวิจัยและบ่มเพาะธุรกิจกับมหาวิทยาลัยพะเยา สร้างงานสร้างอาชีพจากการผลิตปลาส้มไร้ก้าง สามารถเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ ขยายระยะเวลาการเก็บรักษา ลดต้นทุนการผลิต ทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้สะดวกต่อการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ พร้อมยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจนเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อประจำจังหวัดพะเยา
  • กมล อินดิโก้ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น สร้างสรรค์ลวดลายการออกแบบ และการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการรังสรรค์ผลงานผ้าม่อฮ่อมไทยสู่สากล โดยร่วมโครงการบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม กับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
  • บริษัท ธนพร ไรซ์มิลล์ จำกัด ร่วมกับทีมนักวิจัยและรับบริการบ่มเพาะธุรกิจฯ จากโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม แปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยการนำนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ข้าวไทย

ซึ่งผู้ประกอบการทั้ง 3 กลุ่ม ล้วนเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการแข่งขันและมีความสามารถในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจ อีกทั้งยังสามารถยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทยให้แข่งขันในเวทีระดับนานาชาติได้ เพื่อการเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แม่ข่ายดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ กล่าวว่า การนำเสนอผลงานครั้งนี้ เป็นการสร้างโอกาสต่อยอดจากกิจกรรม NSP Flash Pitching Show ในโอกาสเยือนจังหวัดเชียงใหม่ของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ นับเป็นการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ในผลงานวิสาหกิจเริ่มต้นไทยที่มีศักยภาพของภาคเหนือ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันและสังคม โดยมีอุทยานฯ เป็นตัวเชื่อมประสานและสร้างโอกาสในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจ พร้อมยกระดับเศรษฐกิจและประเทศไทยให้สามารถแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติได้ เพื่อการเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: การค้า - การลงทุน, การตลาด, การศึกษา, กิจกรรม, สังคม, เยาวชน, เศรษฐกิจ, ไอที - ยานยนต
คำค้น: , , , , ,