โรงแรมแชงกรี-ลา เชียงใหม่ จัดแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “นำนกเงือกกลับสู่เชียงใหม่” (Hornbill reintroduction project)

โรงแรมแชงกรี-ลา เชียงใหม่ จัดแถลงข่าวการเปิดตัวโครงการ “นำนกเงือกกลับสู่เชียงใหม่” (Hornbill reintroduction project) ณ ห้องประชุมสุโขทัย บริเวณชั้น 1 ของโรงแรมฯ โดยโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือของมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, องค์การสวนสัตว์, ชาวบ้านในหมู่บ้านแม่กำปอง และ โรงแรมแชงกรี-ลา เชียงใหม่ ภายใต้การให้คำปรึกษาโดยคุณกาลี เดมิส (Galli Demis)

ภายในงานได้จัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการฯ มีการบรรยายพิเศษโดย ศาสตราจารย์ ดร. พิไล พูลสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์ชาวไทย ที่มีผลงานวิจัยดีเยี่ยมด้านปักษีวิทยา (Ornithology) และเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลผู้ทรงเกียรติด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติระดับโลก พร้อมกันถึง 2 รางวัล เมื่อปี พ.ศ. 2549 ได้แก่รางวัล The 2006 ROLEX Awards for Enterprises จาก Rolex SA ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และ The 52nd Annual Chevron Conservation Awards จาก Chevron Corporation ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้เข้าฟังการบรรยายฟรี นอกจากนี้ยังจะมีการจัดจำหน่ายสินค้าที่ระลึกเพื่อระดมทุนช่วยเหลือนกเงือกในโครงการนี้อีกด้วย

สำหรับโครงการ “นำนกเงือกกลับสู่เชียงใหม่” (Hornbill reintroduction project) ในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของเชียงใหม่ที่จะมีการนำนกเงือกจำนวน 7 คู่ เป็นนกแก็ก 5 คู่ และนกกกอีก 2 คู่ มาปล่อยเลี้ยงไว้ที่ป่าใกล้หมู่บ้านแม่กำปอง ซึ่งได้มีการเข้าสำรวจและเห็นว่ามีสภาพที่สมบูรณ์เหมาะสมกับการเจริญเติมโตของนกเงือก ทั้งนี้ทางทีมงานยังได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านม่กำปองที่จะช่วยกันดูแล ติดตามผลการดำรงชีวิตของนกเงือกร่วมกับคณะทีมงานจากมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ซึ่งโครงการนี้จะมีส่วนช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศน์ เพิ่มต้นไม้ให้พื้นป่า ช่วยให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าของป่าที่ให้ประโยชน์กับเราอย่างมหาศาล และเพื่อเราจะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอันมีค่าเหล่านี้ไว้ให้ลูกหลานเราต่อไป

นกเงือกถือเป็นสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญต่อความสมดุลของระบบนิเวศของป่าดิบเมืองร้อน โดยมีบทบาทเด่นชัด ในการเป็นผู้แพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ และช่วยควบคุมประชากรกรสัตว์เล็กในฐานะผู้ล่า ในบางประเทศ นักพฤกษศาสตร์ได้ศึกษาป่าที่นกเงือกหายไป พบว่าต้นไม้บางชนิดเริ่มลดลง เพราะไม่มีนกเงือกช่วยกระจายพันธุ์

โดยผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยนกเงือกและรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการนี้สามารถติดต่อสอบถามไปยังคุณ คุณเดมิส กาลี ที่ปรึกษาโครงการได้ที่ โทร. 088-143-2616 หรือหากต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับนกเงือกในประเทศไทย สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ เว็ปไซด์ของมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกที่ http://hornbill.or.th/th/

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: กิจกรรม, สิ่งแวดล้อม