บริหารธุรกิจจับมือ วิศวะมช. เปิดตัวโครงการต้นแบบ ผลิตบัณฑิตข้ามสาขาด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech)

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา คณะบริหารธุรกิจ และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้พัฒนาโครงการต้นแบบในการผลิตบัณฑิตข้ามสาขา ด้านเทคโนโลยีทางการเงิน หรือFintech โดยมีนักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 3 และ 4 สาขาการเงินและการธนาคารและสาขาวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์เข้าร่วมโครงการเพื่อเรียนรู้และพัฒนาโครงงานร่วมกัน


โครงการนี้มีโจทย์จากธนาคารไทยพาณิชย์ที่กำลังมุ่งหน้าสู่ธนาคารแห่งอนาคตซึ่งต้องการผู้ร่วมงานที่มีความรู้ทั้งสองศาสตร์ทั้งด้านการเงินและวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คำตอบของโจทย์นี้ไม่สามารถจะอาศัยหลักสูตรใดๆที่มีอยู่ในปัจจุบันหรืออาศัยหลักสูตรใหม่ที่วางแผนจะตั้งขึ้นมาเพราะการตั้งหลักสูตรใหม่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าหนึ่งปี ในขณะที่ธนาคารและสถาบันการเงินเองก็ไม่มีทรัพยกรบุคคลที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงนี้ได้


ทางออกของปัญหาจึงกลายเป็นความร่วมมือของทั้งสามฝ่ายคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ที่เป็นธนาคารอันดับต้นๆของประเทศ คณะบริหารธุรกิจที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตบัณฑิตสาขาการเงิน และคณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่เชียงชาญเรื่องการพัฒนาโปรแกรม ภายใต้การให้คำปรึกษาจากคณะอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ความร่วมมือนี้จึงถือเป็นการก้าวข้ามวิถีแห่งการเรียนรู้แบบเดิมที่อาศัยตำราและห้องเรียนมาเป็นโจทย์ของธุรกิจการเงินและการทำงานของอาจารย์และนักศึกษาจากสองสาขาวิชาที่แตกต่างกัน สำหรับโครงการในครั้งแรกนี้โจทย์ที่กำหนดคือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Blockchain, การพัฒนาเพื่อให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้จากเอกสารหรือบทวิเคราะห์ (Machine Learning) และการพัฒนา Mobile Application ทางการเงินเพื่อตอบสนองการลงทุนของคนทั่วไป

โดยทั้งสามฝ่ายได้ร่วมกันประชุม รับฟังขัอคิดเห็น และประเมินผลคำตอบจากอาจารย์ที่ปรึกษานักศึกษา ได้ทุ่มเทการทำงานมายาวนานกว่าสี่เดือน จากการประเมินผลการดำเนินการ นับได้ว่าประสบความสำเร็จและได้ผลลัพธ์ที่น่าประทับใจ โดยนักศึกษาของทั้งสองคณะสามารถพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ข่าวจากงบการเงินที่เรียกว่า Machine Learning ซึ่งทำให้ในอนาคตนั้นข้อมูลข่าวสารทั่วๆไปหรือรายงานของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งสารสนเทศจากนักวิเคราะห์จะถูกนำมาถอดให้เป็นคุณค่าของหุ้นตัวใดตัวหนึ่งได้ หรืออาจบอกอนาคตได้ว่าบริษัทจะมีการควบรวมกิจการหรือไม่ นักศึกษาบางกลุ่มสามารถพัฒนาแอพลิเคชันที่ทำให้การลงทุนในกองทุนและการลงทุนในหุ้นเป็นเรื่องง่ายผ่านเทคโนโลยีของ Fintech ซึ่งผู้ใช้งานแอพลีเคชันสามารถรู้ว่าหุ้นที่ตนเองลงไปนั้นมากหรือน้อยกว่าที่ควรเป็นอย่างไร อีกตัวอย่างของควาสำเร็จคือโครงการที่นักศึกษาสามารถนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้กับการออกเอกสารทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ จนทำให้กระบวนการที่ซับซ้อน เนิ่นนานของเอกสาร เสร็จได้ในไม่กี่ชั่วโมงโดยที่ผู้เกี่ยวข้องเพียงแต่นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์เท่านั้น นับได้ว่าทั้งหมดเป็นผลผลิตจาการการเรียนรู้ร่วมกันของสามฝ่าย
การดำเนินงานภายใต้โครงการนี้ถือได้ว่าเป็นมิติใหม่ของการเรียนรู้ที่ไม่ได้ให้นักศึกษาศึกษาเฉพาะเรื่องราวทางทฤษฎีในห้องเรียนแต่ได้นำเอาโจทย์ปัญหาจริงในภาคอุตสาหกรรมการเงินมาวิเคราะห์ เรียนรู้ และแก้ปัญหา ระบการเรียนนี้ได้ช่วยให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะทางด้านการเรียนรู้ และการทำงานร่วมกับสมาชิกในทีมที่มีพื้นความรู้ที่แตกต่างกันระหว่างนักศึกษาภาควิชาคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องมีบทบาทอย่างมากในการทำงานยุคใหม่ที่ต้องการบุคคลากรซึ่งต้องมีทั้งความรู้ทางการเงินและคอมพิวเตอร์


ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. สิริวุฒิ บูรณพิร คณบดีคณะบริหารธุรกิจ กล่าวว่า “โปรเจคท์นี้เป็นรูปแบบของการเรียนรู้สมัยใหม่ที่ต้องการให้ฝึกให้คนมีทักษะของการเรียนรู้ในหลายศาสตร์ นักศึกษาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆจาก project นี้ เช่น นักศึกษาคณะบริหารได้เรียนรู้โลกของการเขียนโปรแกรม เขารู้จักการสื่อสารกับคนในวงการคอมพิวเตอร์ เช่น รู้จักภาษาไพธอนที่จะเป็นภาษาที่จะใช้ในการเขียนโปรแกรม เขาได้รู้จักการจัดระบบความคิดตัวเองจากการออกแบบโปรแกรม เขาเรียนรู้ที่จะทำงานกับเพื่อนที่มีความรู้ต่างสาขาซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมากในองค์กรใหม่ เขาได้เรียนรู้การทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างแท้จริงด้วยการกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนที่มีความชำนาญต่างกัน นอกจากนั้นเขายังได้ประจักษ์ด้วยตนเองถึงความสำคัญของการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการค้นหาสิ่งที่ต้องการ project นี้เป็นการจำลองสถานการณ์ของการทำงานจริงๆที่ต้องทำงานกัน 24 ชั่วโมงของคนในภาคการเงิน เชื่อว่านักศึกษาที่จบไปเหล่านี้จะมีความพร้อมสูงสำหรับการทำงานในปัจจุบันและในอนาคตข้างหน้า

และ ผศ. ดร. ณัฐ วรยศ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และรองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผศ. ดร. อรรถพล สมุทคุปติ์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า นักศึกษาทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ได้เรียนรู้ถึงการประยุกต์การเขียนโปรแกรมเพื่อใช้งานด้านการเงิน ซึ่งเขาไม่รู้จักมาก่อน เขาต้องทำความเข้าใจถึงเนื้อหาของทั้งทางบัญชีและการเงิน ทำให้เขารู้ว่านอกจากองค์ความรู้เรื่องของโปรแกรมที่เขาต้องเรียนแล้ว เขายังต้องรู้จักพัฒนาตัวเองเพื่อให้เข้าใจศาสตร์อื่นด้วย รวมถึงพัฒนาทักษะการสื่อสารซึ่งนักศึกษาในด้านนี้อาจยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญ เวทีนี้จึงเป็นเวทีที่ทำให้เขาเรียนรู้ก่อนจะก้าวสู่โลกการทำงานจริงๆ”

สำหรับทางฝ่ายของธนาคารไทยพาณิชย์นั้น คุณกนกเนตร เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Project Delivery ธนาคารไทยพาณิชย์ และทีมงาน กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “ที่ไทยพาณิชย์พูดกันมากมานานแล้วถึงเรื่องว่าธนาคารจะเป็น Platform ของ Services ทางการเงิน มากกว่าที่จะเป็นการให้บริการทำธุรกรรมอย่างเดียว ซึ่งทุกคนที่ได้ฟังตอนแรกก็งงๆว่าคืออะไรแต่ตอนนี้เริ่มเข้าใจแล้ว และเริ่มเห็นการประยุกต์ใช้แล้ว ทำให้องค์กรเองต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งคนทำงานในระบบนี้คือต้องสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะหลายๆอย่างเปลี่ยนไปเร็วมากจนรอให้คนมาบรรยาย มาสอนให้ฟังนั้นไม่ทันเวลากับการเปลี่ยนแปลง โปรเจคท์นี้ช่วยเสริมให้เกิดทักษะต่างๆเหล่านี้ได้ดีมาก คุณกนกเนตร กล่าวชื่นชมถึงความสามารถของนักศึกษาว่าทำได้ดีมาก หลายกลุ่มทำให้ทีมงานต้องขอนำโปรแกรมที่พัฒนาแล้วไปเสนอให้ผู้บริหารระดับสูง และไทยพาณิชย์พร้อมรับนักศึกษาในโปรเจคท์นี้มาร่วมงานด้วย และยังกล่าวต่อไปว่า ทางธนาคารรู้สึกประทับใจกับการทำงานร่วมกันของทั้งสองคณะ และชื่นชมว่าคณะบริหารธุรกิจและคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมช.นั้นเป็นศูนย์การศึกษาชั้นนำของประเทศอย่างแท้จริง”

ส่วนทางด้านนักศึกษาที่ได้เข้าร่วมโครงการ อาทิ นายจรณินทร์ นนทชัยภูมิ นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ ภาควิชาการเงินและการธนาคาร ชั้นปีที่ 4 กล่าวว่า “ดีใจและภูมิใจที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ในครั้งนี้ โดยโครงการนี้ทำให้ได้เรียนรู้การทำงานกับเพื่อนต่างคณะ ซึ่งต้องใช้การพูดคุยอย่างละเอียดเพื่อให้เพื่อนคณะวิศวะสามารถนำโจทย์ที่ได้รับมา ไปเขียนเป็นโปรแกรม และสามารถนำไปใช้ หรือเพื่อพัฒนาต่อได้จริง” และนายสุทธิพันธ์ แต้มลึก  นักศึกษาคณะวิศวะกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ชั้นปีที่ 4 กล่าวว่า “การเข้าร่วมโครงการนี้เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย กับสิ่งใหม่ๆ ที่ตนเองไม่เคยได้เรียนเกี่ยวกับการเงินมาเลย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจที่สามารถเขียนโปรแกรมออกมาอย่างละเอียด และสามารถนำไปใช้งานได้จริง”

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: การศึกษา, กิจกรรม, หุ้น - การเงิน, เยาวชน, ไอที - ยานยนต