ป.ป.ส. อบรมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้กับผู้ปฏิบัติงานควบคุม และกำกับดูแลการปลูกเฮมพ์ (กัญชง) เป็นพืชเศรษฐกิจ

ป.ป.ส. อบรมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้กับผู้ปฏิบัติงานควบคุม
และกำกับดูแลการปลูกเฮมพ์ (กัญชง) เป็นพืชเศรษฐกิจ

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม 2561 เวลา 09.00 น. นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) มอบหมายให้ นายชลัยสิน โพธิเจริญ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมการปฏิบัติงานควบคุมและกำกับดูแลการปลูกเฮมพ์ (กัญชง) เป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2561  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการควบคุม กำกับดูแลการปลูกเฮมพ์ (กัญชง) และพิจารณาอนุญาตเฮมพ์ (กัญชง) เพื่อให้การเพาะปลูกเฮมพ์ (กัญชง) เป็นพืชเศรษฐกิจเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศอย่างแท้จริง ผู้เข้าร่วมอบรม ประกอบด้วย คณะทำงานควบคุมและกำกับดูแลเฮมพ์ (กัญชง) ระดับจังหวัด จำนวน 8 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ตาก แพร่ เพชรบูรณ์ ปทุมธานี และขอนแก่น) ชุดปฏิบัติการตรวจสอบเฮมพ์ จำนวน 14 อำเภอ และ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. รวม 150 คน ณ โรงแรมดวงตะวัน เชียงใหม่ และศึกษาการปฏิบัติงาน ณ สถานีเกษตรหลวงปางดะ จังหวัดเชียงใหม่
มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 6 กันยายน 2559 เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่ายหรือไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะเฮมพ์และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณากำหนดมาตรการควบคุมและกำกับดูแลให้เข้มงวด โดยจัดตั้งกลไกการควบคุมในระดับต่างๆ
คำสั่งศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ ที่ 7/2560 เรื่อง มาตรการควบคุมและกำกับดูแลเฮมพ์ (กัญชง) เป็นพืชเศรษฐกิจ ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 กำหนดให้ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปราม
ยาเสพติดจังหวัด แต่งตั้งคณะทำงานควบคุมและกำกับดูแลเฮมพ์ ระดับจังหวัด 1 ชุด มีหน้าที่ในการปฏิบัติการควบคุม และตรวจสอบในพื้นที่จังหวัด และให้ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอำเภอแต่งตั้งชุดปฏิบัติการตรวจสอบระดับอำเภอ 1 ชุด มีหน้าที่ในการปฏิบัติการควบคุมและตรวจสอบในพื้นที่ระดับอำเภอ ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2561 มีพื้นที่ ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว จำนวน 4 จังหวัด 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสะเมิง ฝาง แม่วาง แม่แจ่ม หางดง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน และอำเภอพบพระ จังหวัดตาก และอยู่ระหว่างยื่นขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจนถึงขณะนี้ มีจำนวน
5 จังหวัด 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์
อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และอำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ทั้งนี้มีพื้นที่อนุญาตมีไว้ครอบครอง จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะต้องอบรมชี้แจงทำความเข้าใจกลไกการทำงานในพื้นที่ทั้ง 2 ระดับ ให้มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีการขออนุญาตได้
การอบรมในครั้งนี้ ในส่วนของคณะทำงานควบคุมและกำกับดูแลเฮมพ์ (กัญชง) ระดับจังหวัด ประกอบด้วย
รองผู้ว่าราชการจังหวัดที่รับผิดชอบงานด้านยาเสพติด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด
รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดที่รับผิดชอบงานด้านยาเสพติด ปลัดจังหวัด ผู้แทนสำนักงาน ปปส.ภาคที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนเกษตรจังหวัด นายอำเภอในพื้นที่ที่มีการดำเนินการเรื่องเฮมพ์ (กัญชง) เป็นคณะทำงาน และหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ ศอ.ปส.จ. เป็นคณะทำงานและเลขานุการ
ส่วนของชุดปฏิบัติการตรวจสอบเฮมพ์ (กัญชง) ระดับอำเภอ จะมีปลัดอำเภอที่รับผิดชอบด้านยาเสพติดเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอ เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรในพื้นที่ เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ ในพื้นที่รับผิดชอบ เป็นชุดปฏิบัติการ โดยมีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติการควบคุม ตรวจสอบการดำเนินการเรื่องเฮมพ์ (กัญชง) ในพื้นที่อำเภอเป็นไปอย่างถูกต้อง รวมถึงการตรวจสอบให้ผู้ได้รับอนุญาตดำเนินการเรื่องเฮมพ์
(กัญชง) ในพื้นที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ตลอดจนทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่และข้างเคียง ให้เข้าใจกฎหมายและการปลูกเฮมพ์ (กัญชง) ในพื้นที่
โดยในการอบรมจะได้นำผู้เข้ารับการอบรมลงพื้นที่สถานีเกษตรหลวงปางดะ เพื่อศึกษาการดำเนินงานการวิจัยและการปรับปรุงสายพันธุ์กัญชง การจัดระบบการปลูกเฮมพ์ ภายใต้ระบบควบคุมให้มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนา บินอล (Tetrahydrocannabinol – THC) ต่ำกว่า 0.3 % และวิธีการตรวจสอบหาปริมาณ THC ซึ่งเป็นกลไกการควบคุมและกำกับดูแลการปลูกกัญชงจากภาครัฐ ที่ได้กำหนดการขออนุญาตปลูก พื้นที่ปลูก และให้ใช้ประโยชน์ได้เฉพาะตามที่ได้รับอนุญาต และต้องมีการตรวจวัดปริมาณสาร THC ของกัญชงที่ปลูก ต้องไม่เกิน ร้อยละ 1.0 ต่อน้ำหนักแห้ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำกัญชงไปใช้ในทางที่ผิด แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชงให้มากขึ้นด้วย

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: สังคม, สิ่งแวดล้อม
คำค้น: , , , ,