สคบ. ตรวจสอบแหล่งเพาะปลูกดอกไม้ เพื่อหาสารฟอร์มาลินที่อาจปนเปื้อนกับดอกไม้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยจากการเลือกซื้อดอกกุหลาบในช่วงวาเลนไทน์

สคบ. ตรวจสอบแหล่งเพาะปลูกดอกไม้ เพื่อหาสารฟอร์มาลินที่อาจปนเปื้อนกับดอกไม้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยจากการเลือกซื้อดอกกุหลาบในช่วงวาเลนไทน์

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 พล.ต.ต ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ (สคบ.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจเยี่ยมตรวจสอบแหล่งเพาะปลูกดอกไม้ หมู่บ้านบวกเต๋ย ตำบลโปงแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตรวจสอบหาสารฟอร์มาลินที่อาจปนเปื้อนมากับดอกไม้ ตั้งแต่กระบวนการผลิต เก็บรักษา จนถึงการขนส่งไปยังแหล่งจำหน่าย และรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลความเป็นอันตราย หรือความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นจากสารฟอร์มาลิน ที่พบในดอกไม้ รวมถึง ผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้า และให้บริการอย่างเป็นธรรมไม่เอาเปรียบผู้บริโภค และได้รับความปลอดภัยจากการซื้อสินค้าหรือบริการในช่วงเทศกาลแห่งความรักหรือวาเลนไทน์ ซึ่งผู้บริโภคนิยมเลือกซื้อดอกไม้สด เพื่อมอบให้แก่บุคคลอันเป็นที่รัก

ด้าน เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า ผู้จำหน่ายดอกไม้สด มักจะสั่งซื้อดอกกุหลาบจากแหล่งเพาะปลูกในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยเข้ามาจำหน่ายเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยสภาพอากาศของประเทศไทยเป็นเขตร้อนชื้น การเพาะปลูกดอกกุหลาบจึงต้องอาศัยแหล่งเพาะปลูกที่มีลักษณะดินละสภาพอากาศที่เหมาะสม รวมถึงกระบวนการคัดแยก การเก็บรักษา ตลอดจนการขนส่งดอก อาจมีผู้ประกอบการนำดอกไม้ไปแช่สารฟอร์มาลิน โดยไม่คำนึงถึงความอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค ทาง สคบ. จึงได้เตรียมมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคตั้งแต่ต้นน้ำให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยจากการเลือกซื้อดอกไม้ ประกอบกับร้านดอกไม้มักอาศัยช่วงเทศกาลปรับราคาดอกไม้สูงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า โดยบางร้านไม่มีการติดป้ายแสดงราคาหรือแสดงราคาที่ไม่ชัดเจน เช่น ขนาดตัวอักษรเล็ก ติดราคาไม่ตรงกับตัวสินค้า ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม สคบ. ได้เน้นย้ำขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบธุรกิจให้มีความตระหนักเกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภคเป็นสำคัญและต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: นโยบายการเมือง