ม.ราชภัฏเชียงใหม่ เปิดการเสวนาในหัวข้อ “ศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจเรื่องศาสตร์พระราชาแก่ผู้สนใจ โดยหวังให้ประชาชนได้น้อมไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 15 อาคาร 90 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี มณีโกศล รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดพิธีการเสวนา ในหัวข้อ “ศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” พร้อมด้วย พลตรีเลียบ จันทร์สุขโข ผู้ทรงคุณวุฒิกองบัญชาการกองทัพไทยที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคง และนางสาวถกลวรรณ ไกรสรกุล ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สำหรับ การเสวนาในครั้งนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้ตระหนักและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานองค์ความรู้และศาสตร์ต่างๆ สามารถเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศชาติไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าศาสตร์พระราชาเป็นองค์ความรู้และสามารถนำพาให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ยั่งยืน สมควรแก่การที่คนไทยต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และน้อมนำสู่การปฏิบัติ
ทั้งนี้ การให้ความรู้และความเข้าใจเรื่องศาสตร์พระราชาแก่ประชาชนหรือผู้สนใจ เพื่อน้อมนำไปสู่การปฏิบัติจนเกิดประโยชน์สูงสุด ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน การเปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตและปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาศาสตร์พระราชา เป็นพันธกิจสำคัญอย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เพราะนอกจากเป็นการดำเนินการตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่า “สถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น” แล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์และสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเป็นการสนองพระราชประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และได้จัดการเสวนาในครั้งนี้ขึ้นโดยรูปแบบและกิจกรรมเป็นการระดมความคิดและเผยแพร่หลักการที่น้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน และประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารการจัดการศึกษา ในระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เพื่อสามารถเสริมสร้างทักษะและขีดความสามารถในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้อื่น สามารถเป็นต้นแบบ และแหล่งความรู้ในการอนุรักษ์ สืบสานองค์ความรู้ “ศาสตร์พระราชา” ให้เป็นที่รู้จักและอยู่คู่กับสังคมไทยสืบไป
ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: การศึกษา, สังคม