มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าพบผู้ว่าฯ เชียงใหม่ หารือแนวทางการปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ในเขตพื้นที่สูง

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หารือแนวทางการปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ในเขตพื้นที่สูง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาเยาวชนไทยเพื่อเป็นพลเมืองไทย 4.0 ตามแนวทางรัฐบาล

 

รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญชัย รัตนเสถียร ที่ปรึกษาคณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.อาวรณ์ โอภาสพัฒนกิจ รักษาการอธิบดีฝ่ายบริการวิชาการและรับใช้สังคม นายณรงค์ อภัยใจ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเมืองกื้ด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าพบ นายปวิน ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหารือแนวทางการปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ในเขตพื้นที่สูงทั้งระบบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนด้วยพหุวิทยาการ ณ ห้องรับรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

สำหรับปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองและชนบท มีช่องว่างระหว่างกันมากยิ่งขึ้นในเรื่องของการขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกและการสนับสนุน  ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนบนพื้นที่สูง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนมากกว่า 294 แห่ง ในสังกัดต่างๆ ยังคงมีความต้องการการหนุนเสริมพัฒนา คุณภาพชีวิตของครอบครัวและชุมชน แต่มักพบกับข้อจำกัดและเงื่อนไขหลายประการ ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา และป้องกันปัญหารอบด้านอาจจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาเยาวชนไทยเพื่อเป็นพลเมืองไทย 4.0 ตามแนวทางรัฐบาล โดยกำหนดมิติการพัฒนาทั้งระบบให้ครอบคลุม 7 ด้านคือ 1) การแก้ไขปัญหาการอ่านออกเขียนได้  2) ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทั้งชุมชน 3) ด้านการส่งเสริมอาชีพและการศึกษาต่อเนื่อง  4) ด้านการพัฒนาทักษะชีวิต  5) ด้านการส่งเสริมความก้าวหน้าของผู้บริหาร ครูและบุคลากรอื่นในแต่ละท้องถิ่น  6) ความขาดแคลนปัจจัยเกื้อหนุน และแนวทางแก้ไขปัญหา เช่น ด้านสิ่งก่อสร้างเพื่อการพัฒนาสุขอนามัย ตลอดจนระบบน้ำสะอาด วัสดุส่งเสริมสุขอนามัยตามความจำเป็น และ 7) การสร้างเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กำหนดจัดประชุมโครงการ “การปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ในเขตพื้นที่สูงทั้งระบบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนด้วยพหุวิทยาการ” ในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2561 ที่ โรงแรมเชียงใหม่ออร์คิด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อจัดกระบวนการสนับสนุนการวิเคราะห์และทบทวนประเด็นปัญหาสำคัญ (Significance) ของโรงเรียนและชุมชน รวมทั้ง สร้างผู้นำในการทำหน้าที่ผู้เอื้ออำนวย (Change agent) ให้เกิดการปรับเปลี่ยนและบูรณาการศาสตร์ทางวิชาการ เพื่อพัฒนาระบบสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพของผู้บริหารและครู ตลอดจน เสริมสร้างเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาในการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป

ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่โดย iChiangMaiPR.com
หมวดหมู่: การศึกษา, สังคม